คอลัมน์กฎหมายธุรกิจ : โอนสิทธิเรียกร้องในค่าเช่าเครื่องบิน ตามพ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ

Photo by JACK TAYLOR/AFP via Getty Images

โอนสิทธิเรียกร้องในค่าเช่าเครื่องบิน ตามพ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ

ธนาคารที่ปล่อยกู้ ให้ผู้ให้เช่าเครื่องบิน ไปซื้อเครื่องบินนำมาให้เช่ากับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีหลักประกันที่สำคัญที่สุดเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในค่าเช่า ที่ผู้ให้เช่าโอนให้แก่ธนาคาร เพื่อให้ธนาคารไปเรียกเอากับการบินไทยโดยตรง หากผู้ให้เช่าผู้กู้ ผิดนัด ไม่จ่ายคืนเงินกู้

สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจะถือเป็นหลักประกันตามกฎหมายล้มละลายได้ ก็ต้องจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558

จดทะเบียนแล้ว ก็ดีกว่าไม่จด แต่จดทะเบียนแล้ว ก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะการบังคับกับหลักประกันอาจมีปัญหาได้ เมื่อการบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการกับศาลล้มละลายกลางและศาลมีคำสั่งรับคำร้องนั้น ทำให้การบินไทย เข้าสู่การคุ้มครองกิจการและสภาวะการพักบังคับชำระหนี้

ธนาคารต่างประเทศ ห้ามเป็นผู้รับหลักประกัน:

ธนาคารที่ให้กู้ซื้อเครื่องบิน มักเป็นธนาคารต่างชาติที่ไม่มีสาขาในไทย จึงไม่ได้เป็นสถาบันการเงินตาม พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ไม่มีสิทธิเป็นผู้รับหลักประกัน ตามพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ จึงจดทะเบียนสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าเครื่องบิน เป็นสัญญาหลักประกันทางธุรกิจไม่ได้

Advertisement

แต่มีกฎกระทรวงการคลังที่ออกภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า หากธนาคารต่างชาตินั้นร่วมปล่อยกู้กับธนาคารพาณิชย์ในไทย หรือสาขาของธนาคารต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย ก็ให้เป็นผู้รับหลักประกัน จดทะเบียนสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันได้

นอกนั้น นิติบุคคลต่างชาติ เป็นผู้รับหลักประกัน ไม่ได้เลย ไม่ว่านิติบุคคลต่างชาติเหล่านั้นจะมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อเครื่องบิน หรือให้สินเชื่อใด ๆ ก็ตาม

ผู้รับหลักประกันก็มีความหมายเดียวกับ เจ้าหนี้มีประกัน ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ย่อมได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น

Advertisement

เวลาจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน ให้จดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แต่เวลาจะดูว่าใครเป็นผู้รับหลักประกัน ได้บ้าง ให้ไปดูที่กฎกระทรวงการคลัง ก็เป็นเพราะว่า ทั้งสองกระทรวงรักษาการตามพ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจร่วมกัน

ธนาคารยอมเสี่ยงเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน:

ธนาคารไทยยังเจาะตลาดสินเชื่อให้กู้ซื้อเครื่องบินไม่ได้ จึงมีธนาคารไทยเพียงหนึ่งหรือสองราย ที่จดทะเบียนเป็นผู้รับหลักประกันแล้ว สำหรับสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในค่าเช่าเครื่องบิน ที่จ่ายโดยการบินไทย

นอกนั้นผู้ให้กู้เป็นธนาคารต่างชาติ ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนสัญญาโอนสิทธิเป็นหลักประกันทางธุรกิจ

เมื่อไม่ได้จดทะเบียนหลักประกัน ธนาคารต่างชาติเหล่านี้ จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดาที่ไม่มีหลักประกัน ตามกฎหมายล้มละลาย ไม่ได้รับสิทธิให้ได้รับชำระหนี้จากค่าเช่าที่โอนมาได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น แผนฟื้นฟูกิจการ ก็จะไม่ได้ให้สิทธิธนาคารที่ปล่อยกู้ให้ผู้ให้เช่า ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน

ค่าเช่าที่การบินไทยต้องชำระให้แก่ธนาคารที่รับโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ตกเป็นของธนาคาร แต่ต้องนำมาแบ่งกันกับเจ้าหนี้อื่น ๆ โดยทั่วถึงกัน

เจ้าหนี้มีประกัน ยังบังคับหลักประกันไม่ได้:

ธนาคารที่จดทะเบียนสัญญาหลักประกันแล้ว ย่อมกลายเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ตามกฎหมายล้มละลาย ทำนองเดียวกับเจ้าหนี้จำนอง จำนำ และมีสิทธิที่จะได้รับชำระค่าเช่าเครื่องบิน ก่อนเจ้าหนี้อื่น

แต่หนทางก็ไม่ค่อยสะดวกโล่งนัก เพราะกฎหมายล้มละลาย ห้ามมิให้เจ้าหนี้บังคับกับหลักประกัน ในช่วงที่มีการคุ้มครองกิจการ อยู่ในสภาวะพักบังคับชำระหนี้ของลูกหนี้

เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย สภาวะการพักบังคับชำระหนี้ก็จะมีผลในทันที

การยื่นคำร้องขอดังกล่าว ปกติจะเป็นเหตุผิดนัดในสัญญาให้สินเชื่อเครื่องบิน ทำให้ธนาคารผู้ให้กู้บังคับกับหลักประกันได้ตาม พ.ร.บ.หลักประกัน โดยการส่งหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้อง ให้การบินไทย ลูกหนี้แห่งสิทธิ โดยตามพ.ร.บ.กำหนดไว้ว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในค่าเช่าเครื่องบิน จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้การบินไทยลูกหนี้ได้ก็ต่อเมื่อได้ส่งหนังสือบอกกล่าวแล้ว หลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าว พ.ร.บ.หลักประกัน ห้ามมิให้ การบินไทยชำระค่าเช่าเครื่องบิน แก่ ผู้ให้เช่า แต่ให้มาชำระแก่ธนาคารผู้รับโอนสิทธิจดทะเบียนแทน

พ.ร.บ.หลักประกันขัดกับพ.ร.บ.ล้มละลาย:

บทบัญญัติของพ.ร.บ.หลักประกันที่ให้บังคับหลักประกันโดยการส่งหนังสือบอกกล่าวการโอนนี้ น่าจะเป็นหมัน เพราะกฎหมายฟื้นฟูกิจการห้ามมิให้เจ้าหนี้มีประกันบังคับกับหลักประกัน ในช่วงพักบังคับชำระหนี้ จึงมีปัญหาว่าหนังสือบอกกล่าว ที่ส่งไป ฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายฟื้นฟูกิจการที่มิให้บังคับหลักประกันหรือไม่ และเมื่อส่งไปแล้ว ผูกพันการบินไทยหรือไม่

กฎหมายฟื้นฟูกิจการเองก็ห้ามการบินไทย ชำระหนี้ ในระหว่างที่แผนฟื้นฟูกิจการยังจัดทำไม่สำเร็จ เว้นแต่เป็นหนี้ที่จำเป็น เพื่อให้การประกอบธุรกิจตามปกติของการบินไทยดำเนินต่อไปได้

การที่การบินไทยจะชำระหนี้ผิดนัดตามหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ ธนาคารตามสัญญาให้สินเชื่อเครื่องบินระหว่างธนาคารกับผู้ให้เช่าผู้กู้ แทนที่จะชำระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่าโดยตรงตามสัญญาให้เช่าเครื่องบิน จะถือเป็นการชำระหนี้ที่จำเป็นเพื่อให้การประกอบธุรกิจของตนตามปกติดำเนินต่อไปได้ ก็น่าจะไม่ใช่

ธนาคารเองอาจต้องยอมเสียสิทธิชั่วคราว รอให้แผนฟื้นฟูออกมาเป็นรูปเป็นร่างก่อน ซึ่งสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันย่อมอยู่ในแผนอยู่แล้ว หรือมิฉะนั้นก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งเป็นประการอื่น

วิโรจน์ พูนสุวรรณ เป็นที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image