ธปท. ลุยไกล่เกลี่ยหนี้ ตั้งเป้า 3 แสนคดีในปี 64

ธปท. ลุยไกล่เกลี่ยหนี้ ตั้งเป้า 3 แสนคดีในปี 64

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การระบาดโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนในวงกว้าง ธปท. จึงมีมาตรการเพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มทางด่วนแก้หนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อน โดย ธปท.จะช่วยรับเรื่องและเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูล ติดต่อหรือเจรจากับผู้ให้บริการทางการเงินในกรณีจำเป็น ทั้งยังมีช่องทางคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระ ซึ่งจะกลายเป็นหนี้ไม่ก่อรายได้ (เอ็นพีแอล) หรือหนี้เสียต่อไป

โดยธปท.จะเข้าไปเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้มีทางเลือกในการชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งจะได้รับข้อเสนอที่ผ่อนปรนทำได้จริง ขณะที่เจ้าหนี้จะได้รับประโยชน์เช่นกันจากการได้รับชำระหนี้คืน เพราะลูกหนี้จะยังผ่อนชำระหนี้ต่อเนื่อง ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องบังคับคดี สามารถรักษาสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน  ซึ่งจะช่วยลดปริมาณคดีในศาล และลดต้นทุนของระบบการเงินในภาพรวม โดยในปี 2564 ตั้งเป้าช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ประมาณ 3 แสนคดี หรือ 25% ของจำนวนคดีทั้งหมดกว่า 2 ล้านคดี

“จำนวนคดีที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นคดีแพ่ง 1.3 ล้านคดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เกี่ยวกับการบริโภค ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต การกู้ยืม การเช่าซื้อ และหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืม เพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็น 5 อันดับแรกของคดีที่เกิดขึ้นจนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง จึงตั้งเป้าที่จะช่วยเหลือลูกหนี้เหล่านี้ให้ได้ประมาณ 3 แสนราย เพราะธปท.มีทีมทำงาน ซึ่งมีการกำหนดไว้คือ หากลูกหนี้ติดต่อเข้ามา จะต้องได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการต่อภายใน 1 สัปดาห์” นางธัญญนิตย์ กล่าว

Advertisement

สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่จะดำเนินการเป็นลำดับแรก คือ ความร่วมมือของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และ ธปท. ได้ร่วมกันจัดงาน ‘มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล’ ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึง 14 เมษายน 2564

โดยประชาชนที่มีหนี้บัตรและสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นหนี้ดีที่ยังผ่อนชำระปกติแต่เริ่มขาดสภาพคล่องชั่วคราว หรือหนี้เสีย ทั้งที่ยังไม่มีการฟ้อง อยู่ระหว่างฟ้อง หรือที่มีคำพิพากษาแล้ว สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมในครั้งนี้ เพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาที่มีกับเจ้าหนี้ได้ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 งานมหกรรมที่จะจัดขึ้นจึงเป็นการไกล่เกลี่ยแบบออนไลน์

โดยเป้าหมายสำคัญและถือเป็นความพิเศษของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ คือ การไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในส่วนที่มีคำพิพากษาและถูกบังคับคดีแล้ว ซึ่งไม่สามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ และปกติเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นตอนนี้เจ้าหนี้มักจะไม่ยอมเจรจา แต่ผู้ให้บริการทางการเงินจำนวน 21 แห่งได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องผ่อนปรนเงื่อนไขให้ปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยให้
ทุกฝ่ายเดินต่อไปได้

Advertisement

ขั้นต้นจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในชั้นบังคับคดีเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ร่วมกันได้อีกครั้งหนึ่ง ข้อเสนอที่ลูกหนี้จะได้รับในงานนี้จะมีความผ่อนปรนตามแนวทางของคลินิกแก้หนี้ ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้จะผ่อนชำระเฉพาะเงินต้นเท่านั้น ส่วนดอกเบี้ยที่ค้างถ้ามีจะยกให้ ถ้าลูกหนี้จ่ายชำระตามแผนได้สำเร็จ และที่สำคัญจะมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวถึง 5 ปี ซึ่งจะทำให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องจ่ายไม่สูงนักและอยู่ในวิสัยที่ชำระได้ อาทิ ถ้าเงินต้น 50,000 บาท ปีที่ 1-3 จ่ายเพียงเดือนละ 1,111 บาท ปีที่ 4-5 เดือนละ 416 บาท

สำหรับลูกหนี้ที่สถานะเป็นหนี้เสีย ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว สามารถใช้ช่องทางของงานมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้สมัครเข้าคลินิกแก้หนี้ได้ และเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของศาลไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากศาลรับข้อเสนอของคลินิกแก้หนี้เป็นหนึ่งข้อเสนอที่ใช้ในขั้นตอนไกล่เกลี่ยออนไลน์ของศาล ถือเป็นความคืบหน้าภายหลังที่การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับ ธปท. โดยคลินิกแก้หนี้ ได้ปรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการจากเดิมที่จะต้องเป็นหนี้เอ็นพีแอล ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นหนี้เสีย ก่อนวันทีา 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตที่ยังไม่เป็นเอ็นพีแอลแต่เริ่มขาดสภาพคล่อง สามารถเข้าร่วมมหกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้ได้ อาทิ ขอเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ที่มีระยะเวลาผ่อนนานขึ้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดภาระลงได้ และดีกว่าการผ่อนขั้นต่ำไปเรื่อยๆ รวมถึงอาจขอให้เจ้าหนี้คงวงเงินบัตรเครดิตบางส่วนเอาไว้ได้อีกด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตเป็นหนี้ระยะยาวดังกล่าวเป็นแนวทางหนึ่งของมาตรการขั้นต่ำในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. ซึ่งจะไม่กระทบประวัติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร

โดยประชาชนที่มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สามารถเข้าร่วมงานมหกรรม ไกล่เกลี่ยออนไลน์ในครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี  ธปท. และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วม

ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ศึกษาแนวทางกรอกข้อมูลอย่างละเอียด ตรวจเช็คไม่ให้ผิดพลาด เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว หากต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร 1213 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. กรณีนอกเวลาทำการท่านสามารถฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออีเมล์มาที่ [email protected] เพื่อที่เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image