จับตาปีนี้สมรภูมิรถอีวีแข่งดุ ค่ายรถแห่เปิดตัวต่ำกว่าล้าน เอกชนคาดปี’ 65 ทะลุหมื่นคัน แนะรัฐชิงจังหวะบูมตลาด เร่งตั้งปั๊มชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่ายอดขายยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี จะมีประมาณ 6,000 คัน เพิ่มขึ้น 188% เทียบกับปี 2563 ที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 2,079 คัน แนวโน้มอีวีขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากเริ่มมีหลายค่ายรถนำรถอีวีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือ 1 ล้านบาทต้นๆ มาขายมากขึ้น อาทิ ค่ายเอ็มจี, นิสสัน ลีฟ และล่าสุดค่ายเกรท วอลล์ ประกาศเปิดตัวขายรถอีวีในไทย เป็นปัจจัยหลักในการเร่งให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น จากที่ผ่านมาราคารถอีวีค่อนข้างสูงประมาณคันละ 3-5 ล้านบาท
นายสุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัจจัยเร่งอีวี ยังมาจากสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ชาร์จจิ้ง มีจำนวนมากขึ้น รัฐให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง สอดรับกับทิศทางยานยนต์โลก โดยยุโรปและญี่ปุ่นประกาศว่าภายในปี 2579 รถที่ใช้พลังงานน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงจะหมดไป ฝั่งจีนประกาศปี 2578 ขณะที่ไทยประกาศปี 2573 จะมีรถอีวีสัดส่วนประมาณ 30% โดยปี 2564 เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องประกอบกับปีนี้จะมีค่ายรถยนต์ที่ได้ขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เริ่มทยอยผลิตออกมา รวมทั้งประกาศอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับปั๊มชาร์จ (ขายส่ง) อยู่ที่ 2.63 บาทต่อหน่วย ช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการทำปั๊มชาร์จไฟฟ้าแพร่หลายขึ้น และรัฐบาลควรสนับสนุนงบในการเปลี่ยนรถใหม่มาสู่รถไฟฟ้ามากขึ้น
“พบว่ายอดจำหน่ายรถอีวี 2,079 คัน ไม่ได้เกิดจากการส่งเสริมของภาครัฐ แต่เป็นความต้องการของผู้บริโภคที่มีเงิน ต้องการลองเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นรถคันที่ 3-4 หากภาครัฐ สนับสนุนติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรือปั๊มชาร์จ และราคารถอีวีสามารถถูกลงต่ำกว่า 8 แสนบาท เชื่อว่าทำให้ความต้องการซื้อรถอีวียิ่งโตแบบก้าวกระโดด และปี 2565 คาดว่าจะเกินหมื่นคันแน่นอน เห็นได้จากตัวเลขย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนจากปี 2561 มียอดขายแค่ 600 คัน ปี 2562 อยู่ที่ 802 คัน และปี 2563 มียอดขาย 2,079 คัน ซึ่งนับว่าโตแบบก้าวกระโดด” นายสุรพงษ์กล่าว
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ต้องการให้รัฐให้ความรู้ในการใช้ยานยนต์อีวีมากขึ้น นอกจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจ อาทิ การติดตั้งชาร์จจิ้งในบ้านที่อยู่อาศัย สายไฟฟ้ารองรับได้หรือไม่ ซึ่งควรให้การไฟฟ้าเข้ามาตรวจสอบ