เศรษฐกิจทรุดหนัก ติดลบ 6.1% ‘สภาพัฒน์’ เผย ปี63 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

เศรษฐกิจทรุดหนัก ติดลบ 6.1% ‘สภาพัฒน์’ เผย ปี63 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 2563 หดตัว ติดลบกว่า 6.1% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนความร้อนแรงทางการเมืองภายในประเทศยังไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4/2563 เติบโตได้ 1.3% หากเทียบกับไตรมาส 3/2563 แต่หดตัวลง 4.2% หากเทียบกับปี 2562 โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา สามารถขยายตัวจากการอุปโภค บริโภคภาครัฐ และเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 คาดว่าขยายตัวอยู่ที่ 2.5%-3.5% มีค่ากลางอยู่ที่ 3%  ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิม ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในช่วง 3.5%-4.5% สาเหตุที่คาดการณ์จีดีพีปีนี้ลดลง เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ที่ยังมีผลกระทบต่อเนื่องอยู่ในไตรมาส 1 ของปีนี้ รวมถึงยังได้คาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเพียง 3.2 ล้านคน ลดลงจากประมาณการณ์เดิมที่คาดว่าจะกลับมา 5 ล้านคน

“การเตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะต้องเตรียมกระจายวัคซีนต้านไวรัสให้กับกลุ่มผู้ประกอบในภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เร็วมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์ในภาคบริการปรับตัวดีขึ้น” นายดนุชา กล่าว

Advertisement

นายดนุชา กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ที่ไแ้รับการส่งเสริมลฃทุนตั้งแต่ช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะในปีนี้ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องแก้ไขปัญหาให้กับนักลงทุนต่างชาติในด้านต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้น โดยการส่งเสริมการลงทุนในเชิงรุก จะพิจารณาปรับรูปแบบใหม่ ในการเข้าหานักลงทุนที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยในระยะถัดไป ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ปีนี้ ในการดึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ดิจิทัล อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ โดยจะต้องใช้การส่งเสริมเชิงรุกเข้าไปพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการปรับโครงสร้าง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในระยะถัดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image