สกู๊ปข่าว: ยกเครื่องใหม่ กม.ลิขสิทธิ์ รับยุค 5จี

สกู๊ปข่าว: ยกเครื่องใหม่ กม.ลิขสิทธิ์ รับยุค 5จี

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่แค่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและวิถีการทำงานเท่านั้น ยังเป็นเพิ่มอุปสรรคทางการค้าอย่างสำคัญ หนึ่งในนั้นคือปัญหาการถูกละเมิดทางทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งขณะนี้ที่หนักหนา คือ การละเมิดแบบวางขายกันโดยทั่วไปตามแผงริมถนน แหล่งท่องเที่ยว หรือไม่ห้างค้าปลีก ถึงขนาดภาครัฐต้องกำหนดจุดละเมิดสูงเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งทั่วประเทศมีแหล่งใหญ่เป็นสิบๆแห่ง แต่วันนี้ดูจะเบาบาง

สะท้อนจากข้อมูล ล่าสุด เมื่อผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ออกรายงานทบทวน รายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลก ประจำปี 2563 (2020 Review of Notorious Markets for Counterfeiting and Piracy) ทั้งตลาดที่มีการขายสินค้าละเมิด (Physical Markets) และ ตลาดออนไลน์ (Online Markets) พบว่ารายงานครั้งนี้ ไม่มีรายชื่อย่านการค้าหรือศูนย์การค้าของไทยปรากฏอยู่ในกลุ่มตลาดที่มีการละเมิดสูง (Notorious Markets) แม้แต่แห่งเดียว จากเดิมที่เคยมีการระบุชื่อย่านพัฒน์พงษ์ ในรายงานฯ ฉบับปี 2562

ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้หมดไป แต่เปลี่ยนจากการละเมิดบนดินไปสู่บนอากาศแทน ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมายอมรับว่าตลาดออนไลน์ของไทย ยังพบข้อมูลการจำหน่ายสินค้าละเมิดอยู่ สอดคล้องที่ได้ตอบถามเจ้าของลิขสิทธิ์สินค้าหลากหลายชนิด ระบุในทิศทางเดียวกันว่า การละเมิดบนออนไลน์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในระยะยาวหากควบคุมดูแลไม่ดีพอ อาจสร้างความเสียหายต่อเจ้าของลิขสิทธิ์และระบบเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาทได้ในอนาคตอันใกล้

Advertisement

ย้อนหลังไปก่อนปี 2559 ที่ธุรกิจเริ่มค้าขายกันบนออนไลน์เพิ่มขึ้น พร้อมกับการร้องเรียนถึงถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากันมากมาย ที่ง่ายสุดก็คือเพลงและภาพยนตร์ ไม่แค่การขายของไม่มีลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เนต อย่างเสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือของใช้ทั่วไปเท่านั้น

จึงเป็นที่มาของความจำเป็น ทำให้กระทรวงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เสนอยกปรับแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โดยเป็นการปรับแก้บางส่วน ซึ่งเพิ่มเติมการปกป้อง คุ้มครองการละเมิดบนอินเตอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) หากเจ้าของสิทธิ พบว่า มีการละเมิดเกิดขึ้น อาทิ การละเมิดเพลง ภาพยนตร์ ละคร บนเว็บไซต์ต่างๆ สามารถแจ้งเตือนไปยังไอเอสพี เพื่อให้นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันที ต่างจาก กฎหมายเดิม

หากพบว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องไปร้องขอต่อศาล เพื่อสั่งให้ระงับการเผยแพร่ ใช้เวลานาน หรือบางครั้งศาลสั่งแล้ว มีปัญหาหากผู้ละเมิดอยู่ในต่างประเทศ หรือมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปร้องขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์อีก แต่กฎหมายใหม่ ให้เจ้าของสิทธิส่งหนังสือแจ้งไปยังไอเอสพีให้ถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้เลย

Advertisement

ขณะที่รอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พศ. 2537 หากผ่านเห็นชอบก็จะเป็นพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พศ. 2537(ฉบับที่ 5) พ.ศ. ….ก็เกิดความร่วมมือแบบต่างๆ เพื่อป้องปรามควบคู่กันไป

อย่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ร่วมกับ 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนไทยใช้บริการมาก ได้แก่ Shopee Lazada และ JD Central ให้ระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ค้าออนไลน์ ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้วางใจของผู้บริโภค ในการซื้อของออนไลน์ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาดำเนินธุรกิจ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

พร้อมกับการจัดทำรายงานทบทวนรายชื่อตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสูงทั่วโลกของผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ในอนาคตไม่ปรากฏรายชื่อตลาดละเมิดในไทย และเร่งหารือฝ่ายสหรัฐฯให้รับทราบถึงมาตรการและการดำเนินการด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งความก้าวหน้าในระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผลการจัดทำรายงานฯ ประจำปี 2564 เป็นไปในเชิงบวกแก่ประเทศมากยิ่งขึ้น นั่นคือ การทยทวนไทยออกจากบัญชีเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในอันดับที่ดีขึ้น

อีกด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาให้ข่าวไว้ว่า จะทำการปรับปรุงฐานข้อมูลลิขสิทธิ์เพลงใหม่ทั้งระบบ โดยแยกให้ชัดเจนว่าเพลงกลุ่มไหนที่ไม่มีปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องลิขสิทธิ์ และมีปัญหาความซ้ำซ้อนในเรื่องลิขสิทธิ์ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ต้องการนำเพลงไปใช้งาน จะได้ทราบข้อมูลก่อน และจะได้ตัดสินใจว่าจะใช้งานเพลงนั้นหรือไม่ จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อนตามมาในภายหลัง

เมื่อได้จัดระเบียบและแยกแยะเพลงได้แล้ว กรมจะเพิ่มช่องทางในการตรวจสอบ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ทำแอพพลิเคชัน เพื่อใช้ในการตรวจสอบ โดยสามารถตรวจสอบได้เลยว่าเพลงนี้ ใครเป็นเจ้าของสิทธิ์ ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าคือเพลงอะไร หรือ ถ้าเป็นกลุ่มเพลงที่มีปัญหา แจ้งออกมาเลยว่า เพลงนี้ มีปัญหา เช่น มีคนอ้างสิทธิ์หลายราย มีผู้จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์หลายราย เป็นต้น และทำไปพร้อมกับจัดระเบียบตัวแทนจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ใหม่ กำหนดให้ผู้ที่จะทำการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมทั้งหมด

หรือหากมีการมอบอำนาจให้ตัวแทน ในส่วนของตัวแทนก็ต้องมาแจ้งขึ้นทะเบียนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบอ้างไปทำการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ จนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้งาน และในการตรวจสอบว่ามีการขึ้นทะเบียนจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่าน QR Code โดยสแกนที่บัตรก็จะรู้ได้เลยว่าเป็นเจ้าของสิทธิ์จริงหรือไม่ และเป็นเจ้าของสิทธิ์เพลงอะไรบ้าง

ในการปรับปรุงครั้งนี้ก็เพิ่มเติมในเรื่องระยะเวลาการถือครองลิขสิทธิ์ และการพิจารณาเอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญาด้วยแต่อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เห็นรวมกันแล้วว่า แม้จะเกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการป้องปรามก็จะเห็นผลเป็นช่วงๆ รูปแบบการละเมิดก็จะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เครื่องมือที่จะสร้างการยำเกรงของผู้คิดจะทำผิด คือ การบูรณการการทำงานและบังคับใช้กฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ ที่สำคัญต้องทันต่อสากลด้วย

ดังนั้น ยกร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับที่กำลังดำเนินการ จึงยึดสหรัฐเป็นแม่แบบ ซึ่งหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ก็นำมาปรับใช้เหมือนกันด้วย

โดยขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….โดยนายเกียรติ สิทธีอมร เป็นประธาน กำลังพิจารณาร่างฯ แวดวงคาดว่าหากการเมืองไม่ได้ร้อนแรงกว่านี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนในการพิจารณารายมาตรา ก่อนเข้าสภานิติบัญญัติ เห็นชอบ หากไม่มีอะไรมาสะดุดให้ล่มระหว่างทาง กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถออกประกาศภายใน 180 วันหลังได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ และบังคับใช้จริงได้ทันปี 2564เป็นการเสร็จสิ้นการยกเครื่องพรบ.ลิขสิทธ์ เข้ายุค 5 G กับการรอคอยมาเกือบ 5 ปี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image