ควบรวมเอ็นทีเป็นเดือน ปัญหาเพียบ ‘กลุ่มติดตาม’ โร่ร้อง ‘บิ๊กตู่’ สางปมทำงานซ้ำซ้อน

ควบรวมเอ็นทีเป็นเดือน ปัญหาเพียบ ‘กลุ่มติดตาม’ โร่ร้อง ‘บิ๊กตู่’ สางปมทำงานซ้ำซ้อน-เร่งสรรหาซีอีโอใหม่

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และกลุ่มผู้ติดตามการควบรวมกิจการ ระหว่าง แคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยื่นหนังสือ เรื่อง ปัญหาที่พบหลังจากการควบรวมกิจการ แคท และ ทีโอที เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จากัด (มหาชน) หรือเอ็นที และขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ทั้งนี้ จากการติดตามในช่วงระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา หลังมีการควบรวมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 พบ 6 ประเด็นที่มีปัญหาแสดงถึงการควบรวมกิจการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.โครงสร้างองค์กร ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีความแตกต่างของระดับ (ซี) ระหว่างพนักงานของแคท (N1) และพนักงานของทีโอที (N2) ซึ่งมีการบริหารงานและปฏิบัติงานที่มีการทับซ้อนกัน เช่น สายงานสื่อสารไร้สาย 1 กับ 2 ไม่มีการ Roaming โครงข่ายที่ควรใช้ร่วมกัน แต่มีการออกโปรโมชัน ในการให้บริการโมบาย ที่มีการแข่งขันและแย่งลูกค้ากันเอง, สายงานขายลูกค้าองค์กร ที่มีฝ่ายภาคเอกชน 1 กับ ขายเอกชน 2 ไปขายลูกค้าเอกชนรายเดียวกัน และสายงานขายและปฏิบัติการลูกค้า ในหลายพื้นที่ ก็ยังความเลื่อมล้ำ และมีการแข่งขันแย่งลูกค้ากันเอง ในพื้นที่ ฯลฯ เป็นต้น

2.คำสั่ง ข้อกำหนด ระเบียบ กฎเกณฑ์ และข้อปฏิบัติ เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ยังไม่มีความชัดเจน /ล้าสมัย ขั้นตอนในการปฏิบัติงานซับซ้อนหลายขั้นตอน จากกรณี ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุเชิงพาณิชย์ที่ต้องถูกยกเลิกไป ต้องใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 นับตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2564 เป็นต้นมาเกิดปัญหาไม่สามารถจ่ายเงินให้พันธมิตรที่มีสัญญาให้บริการในลักษณะ System Integrator (SI) อยู่อย่างต่อเนื่อง หรือใน SI รายที่มีการลงนามสัญญาแล้วก็ต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถส่งมอบงานให้ผู้ใช้บริการได้ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ทำให้เสี่ยงอาจถูกเรียกค่าปรับหรือไม่สามารถส่งมอบงานให้ผู้ใช้บริการได้ตามเวลาของสัญญาที่กำหนด

Advertisement

3.การมีซีอีโอที่มาจากองค์กรที่มีบุคคลากรมากกว่า ทำให้การพิจารณา กำหนดนโยบายต่างๆ มุ่งเน้นไปที่องค์กรนั้นๆ มากกว่า ควรเร่งให้มีการสรรหา แต่งตั้งซีอีโอคนกลางตัวจริงให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากที่ ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้ง น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ตำแหน่ง คณะกรรมการบริษัทฯ (อดีตประธานกรรมการ ทีโอที) เข้ามารักษาการซีอีโอ อีกตำแหน่ง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ ได้มีการแต่งตั้งผู้รักษาการแทนซีอีโอ ให้ นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโครงสร้างพื้นฐาน ทำหน้าที่รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่อีกตำแหน่งอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับการที่ผู้บริหารยังไม่สามารถผสานวัฒนธรรมการทำงานของทั้งสองบริษัทให้เข้ากันได้ ก็อาจเกิดความล้มเหลวในการควบรวมกิจการ มีประสิทธิภาพ

4.ควรมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการเพิ่มเติม ที่เป็นมืออาชีพ เนื่องจากเอ็นที เป็นองค์กรที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ มีสำนักงานทั่วประเทศ มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 17,000 คน และจากปัญหาของการควบรวมที่เกิดขึ้น การมีคณะกรรมการบริษัทฯ เพียง 5 คนนั้น ไม่เพียงพอต่อการกำกับดูแลและกำหนดนโยบาย 5.การปรับระบบไอที ที่สนับสนุนการให้บริการลูกค้า ตลอดจนระบบประมวลผล ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการเชื่อมโยงระบบที่สมบูรณ์แบบ

6.ขอให้มีการตรวจสอบเนื้องานอย่างละเอียดก่อนส่งมอบงาน ในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา การบริหารทรัพยากรบุคคล ของ บริษัท เมอร์เซอร์ และ บริษัท เคพีเอ็มจี ที่ใช้เงินงบประมาณในการว่าจ้างจำนวน 48.79 ล้านบาท และ บริษัทที่ปรึกษา ที่จัดทำโครงสร้างองค์กรและแผนธุรกิจ คือ บริษัท อีวาย และ บริษัท Prime street ที่ใช้เงินงบประมาณในการว่าจ้างจำนวน 72 ล้านบาท ให้มีความเหมาะสม

Advertisement

“ขณะนี้ เอ็นทีถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงิน การควบรวมของทั้งสององค์กรควรจะเป็นการสร้างการทำงานร่วมกัน นำความเข้มแข็งของทั้งสององค์กรมารวมกันเนื่องจากสินทรัพย์ที่ทั้งสององค์กรมีมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านบาท เงินสดสองหน่วยงานที่มีมูลค่าสูงถึง 36,700 ล้านบาท แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในส่วนของแคท หรือปัจจุบันเรียกว่า NT1 ถูกสถาบันการเงินปรับลดความน่าเชื่อถือลง เช่น กรณีการขอให้สถาบันการเงินออกหนังสือค้ำประกัน จากเดิม ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ค้าประกัน ก็ต้องวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน และถูกสถาบันการเงินผู้ออกหนังสือค้าประกันเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม 2 – 3 เท่า เป็นต้น ทำให้มีต้นทุนการทำงานที่เพิ่มสูงขึ้น” นายสังวรณ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image