คอลัมน์ คิดเห็นแชร์ : ทิศทางเศรษฐกิจไทยในมุมมอง เคจีไอ

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในมุมมอง เคจีไอ

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในมุมมอง เคจีไอ

โดย สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) KGI

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ผมจะขอหยิบยกบทวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยโดย นักเศรษฐศาสตร์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มาสรุปให้ผู้อ่าน หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4/63 หดตัว 4.2% YoY (เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) โดยตัวเลข GDP ดังกล่าวดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะหดตัว 5.5% YoY

วิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4/63 จะพบว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยมีการฟื้นตัวดีขึ้นในแทบจะทุกมิติ อาทิ ด้านการผลิต (ทั้งภาคการเกษตร และนอกภาคเกษตร) ด้านการใช้จ่าย โดยเฉพาะการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชนและของภาครัฐ เว้นเพียงการลงทุนที่ยังคงเห็นการชะลอตัวอยู่บ้าง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากความไม่มั่นใจเรื่องของแนวโน้มเศรษฐกิจและการที่นักธุรกิจต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาเจรจาการค้าการลงทุนในประเทศไทยได้

Advertisement

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ส่งผลให้ตัวเลข GDP ไทย ไตรมาส 4/63 หดตัวน้อยกว่าที่คาด คือ ส่วนของ “การเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังราคาตลาด” ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในหมวดสินค้าเกษตร เหมืองแร่ อุตสาหกรรม และทองคำ จากการที่ตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4/63 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสถานการณ์การระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เดือน มี.ค.2564 เป็นต้นไป ทำให้คาดว่าที่ประชุม กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5%

สำหรับแนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2564 ฝ่ายวิจัยฯ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินแม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 4/63 แต่จากการที่ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลงในช่วงต้นไตรมาสที่ 1/64 แต่จะเป็นการแย่ลงเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/63 สำหรับการเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ฝ่ายวิจัยประเมินว่าสภาวะโดยรวมไตรมาสที่ 1/64 ดีกว่าไตรมาสที่ 1/63 แม้ว่าจะเกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นและรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการระบาดในไตรมาสที่ 1/64 ก็ตาม แต่ในช่วงไตรมาส 1/63 เศรษฐกิจไทยได้เกิดภาวะช็อกรุนแรงอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเดือน มี.ค.2563 ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบในรอบปี 2564 น้อยกว่าปี 2563 อย่างเห็นได้ชัดเจน

ขณะที่มาตรการเชิงป้องกันซึ่งจะผ่อนคลายมากในไตรมาสที่ 2/64 จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นเทียบกับไตรมาสที่ 1/64 หมายความว่า GDP ไตรมาสที่ 1/64 จะหดตัว QoQ (เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) และกลับมาขยายตัว QoQ ในไตรมาสที่ 2/64 แต่ GDP ในไตรมาสที่ 1/64 จะยังคงหดตัว YoY ขณะที่ GDP ในไตรมาสที่ 2/64 จะสามารถขยายตัวได้ 6% YoY จากผลของฐานที่ต่ำอย่างมาก และเมื่อรวมกับมาตรการใช้จ่ายของรัฐบาลและมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาด COVID-19 ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” ที่มูลค่ารวมกัน 3.06 แสนล้านบาท จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี

Advertisement

นอกจากนี้ ความหวังต่อเริ่มนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาใช้ จะปัจจัยบวกสำคัญที่จะส่งผลให้ความกลัวต่อการระบาดและภาวะการระบาดจริงของ COVID-19 จะหมดลง เบื้องต้นคาดว่า GDP ในปี 2564 จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ 3.9% จากที่ติดลบในปี 2563

ในภาพรวมที่นักเศรษฐศาสตร์ของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินข้างต้น จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และรอคอยประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่จะเริ่มต้นฉีดให้กับคนไทยได้ในเร็ววันนี้ ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเพียงใด ซึ่งหากวัคซีนโควิด-19 สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ดี จะส่งผลให้เราสามารถเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจได้อีกครั้ง ทั้งนี้นอกเหนือจากการรอคอยให้วัคซีนโควิด-19 เข้ามาควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ผมประเมินว่ารัฐบาลไทยยังจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อีกรอบเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เป็นปกติอีก

กลับมาที่ตลาดการเงิน ในช่วงต้นของการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ (หากสถานการณ์เป็นไปตามคาด) ผมประเมินว่าตลาดหุ้นไทยยังได้รับ Sentiment บวกจากประเด็นนี้อยู่ และประเมินว่าหุ้นที่เคยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาจะฟื้นตัวกลับมาโดดเด่นได้อีกครั้ง อาทิ หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น แต่ในระยะถัดไป (อาจจะเป็นช่วงปลายปี 2564 หรือในปี 2565) ตลาดการเงินทั่วโลกมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะโกลาหลอีกครั้ง เมื่อธนาคารประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ FED จะเริ่มต้นการผ่อนคลายมาตรการ QE และเริ่มต้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ถือเป็นตลกร้ายที่นักลงทุนในตลาดการเงินตอนนี้เริ่มกลัวตัวเลขเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังจากที่ “เสพติดอัตราดอกเบี้ยต่ำ” กันไปแล้วนั่นเอง

ดังนั้น ในช่วง 1-2 ปีนี้ นักลงทุน นักธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไป จำเป็นต้องเริ่มวางแผนการเงินในอนาคต รองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากความโกลาหลนี้ ที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image