ปกรณ์วุฒิ แฉ บิ๊กป้อม โยงตั้งซูเปอร์บอร์ด กสทช. ล้วงลูกแบ่งเค้กเอกชน

ปกรณ์วุฒิ แฉ บิ๊กป้อม โยงตั้งซูเปอร์บอร์ด กสทช. ล้วงลูกแบ่งเค้กเอกชน

เวลา 19.36 น. ที่ประชุมรัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหากรณีแต่งตั้งคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประมูลคลื่นเพื่อนำไปใช้ในเทคโนโลยี 5G และหนึ่งในคลื่นที่ถูกนำมาประมูล 5G คือคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งต้องเรียกคืนจากเจ้าของสิทธิเดิม คือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือเอ็มคอต

จากนั้นก็มีมติชดใช้ให้เอ็มคอต จำนวน 3,235 ล้านบาท ปรากฏว่าจำนวนเงินนี้จะต้องแบ่งให้เอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญากับเอ็มคอต 50% คิดเป็นเงิน 1,617 ล้านบาท เมื่อมีการเรียกคืนทั้งคู่ก็เป็นผู้เสียหายร่วมกัน แต่มีไอ้โม่งใช้เส้นสายผ่านคสช. ที่มีความเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร แต่งตั้งบุคคลเข้าไปนั่งตำแหน่งต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกรณีอย่างชัดเจน ทำให้มีข้อครหาจากสังคมมากมาย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก็เมินเฉยต่อการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยเงินที่ต้องจ่ายก็มาจากรายได้ของการประมูล ทั้งนี้รายได้จากการประมูลคลื่น 85% จะนำส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน และอีก 15% เข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หากไม่มีการตรวจสอบจะเกิดความเสียหายต่อภาครัฐอย่างมาก

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า จุดกำเนิดของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2553 เมื่อเอ็มคอต เซ็นสัญญากับคู่สัญญา จากนั้นปี 2554 ได้มีการก่อตั้ง กสทช. จากนั้นในปี 2562 กสทช. ได้เรียกคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จากเอ็มคอตเพื่อนำมาประมูล และปี 2563 กสทช. มีมติจ่ายค่าชดเชยให้เอ็มคอต โดยสาระสำคัญของสัญญาการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการทำธุรกิจโทรทัศน์บอกรับสมาชิก ฝ่ายคู่สัญญาจะลงทุนอุปกรณ์และทำการตลาดทั้งหมด และเอ็มคอต จะได้ส่วนแบ่ง 9% จากรายได้ ในฐานะเจ้าของคลื่น เป็นการเซ็นสัญญาก่อน 2 เดือนก่อนที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรขึ้นความถี่ 2563 จะบังคับใช้ ซึ่งจากกระบวนการคือ หากเอ็มคอตไม่แสดงให้เห็นว่าจะนำคลื่นนี้ไปใช้อย่างไร คลื่นความถี่ 2600 จะถูกขอคืนโดยไม่ได้รับการชดเชยใดๆ เลย จึงต้องหาคู่สัญญาให้เร็วที่สุด เหตุใดเอกชนรายนี้ถึงต้องได้รับเงินเยียวยาชดเชยทั้งที่เป็นสัญญาที่เคยถูกระบุว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถูกตีความว่าใช้คลื่นผิดประเภท

Advertisement

ต่อมาในการประชุมกสทช. เมื่อเดือน 17 กันยายน 2557 หลังการรัฐประหาร ได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ประเด็นด้านกฎหมายสิ้นสุดไปแล้ว และเชื่อคำกล่าวอ้างเอ็มคอต ที่ระบุว่า เป็นปัญหาทางธุรการ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 ก่อนหน้าแต่งตั้งคณะทำงานฯ​ ได้มีการตั้งซูเปอร์บอร์ด กสทช. เป็นคนที่รู้กันทั่วว่าเป็นลูกน้องเก่า เป็นนายตำรวจสายตรง และเป็นคนสนิทของน้องชายพล.อ.ประวิตร เข้ามานั่งที่ดำรงตำแหน่งในบอร์ด และบางคนมีตำแหน่งเป็นสภานิติบัญญัติ (สนช.) ด้วย เป็นการใช้อำนาจการเมืองเข้าไปแทรกแซง และคณะทำงานฯ ก็ไม่ได้ทำงานตรวจสอบสัญญาดังกล่าวเลย เป็นการปลุกผีสัญญาที่เคยไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ ที่ทำให้เอกชนคู่สัญญาได้รับเงินชดเชยเยียวยา ที่นำมาสู่กระบวนการงาบเงินเยียวยา

“ผมเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จริงๆ เพราะรัฐบาล คสช. สร้างสิ่งชั่วร้ายไว้ให้ท่านสะสาง เยอะเหลือเกิน แต่แทนที่ท่านนายกฯ จะสะสางสิ่งที่ คสช. ทำเอาไว้กลับมีการแต่งตั้งทั้งคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และคนในเครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร เข้าไปนั่งเป็น บอร์ดเอ็มคอต เข้าไปปิดจ็อบด้วยการข้ามหัวบอร์ดเอ็มคอต ทั้งคณะ เพื่อแบ่งเงินให้กับเอกชน ที่ไม่เคยดำเนินธุรกิจจริงเป็นจำนวนเงิน 1,617 ล้านบาท มีทั้งการปกปิดข้อมูล ขัดขวางกระบวนการตรวจสอบ” นายปกรวุฒิ กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ อภิปรายต่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้อยู่แก่ใจว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น แต่กลับออกมายืนยันหน้าตาเฉย ว่าไม่พบความผิดพลาดใดๆ เรื่องราวทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า มีการกระทำอย่างเป็นขบวนการ สมรู้ร่วมคิดกัน วางคนเข้าไปครอบงำในองค์กรต่างๆ ของรัฐ เพื่อเอาเงินของแผ่นดินเข้ากระเป๋าตัวเอง และนายกฯ ยังจงใจ ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดความเสียหายต่อเงินของแผ่นดิน ของประชาชนคนไทยทุกคน นับพันล้านบาท หากเรื่องนี้ยังไม่มีการตรวจสอบ ความเสียหายอาจจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะตอนนี้มีการฟ้องร้องคดีไปสู่ศาลปกครอง เพื่อขอให้จ่ายค่าชดเชยคลื่นเป็นมูลค่า 17,000 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขเดิมถึง 5 เท่า และนั่นหมายความว่าเงินจำนวน 50% จะถูกดึงออกไปให้เอกชน สูงถึง 8,500 ล้านบาท

Advertisement

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า อีกหนึ่งผลงานอัปยศของ สนช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการแก้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา บอร์ด กสทช. จากเดิมที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง จะเป็นตัวแทนที่มาจากภาคประชาชน โดยขนาดเป็นแบบเดิม บอร์ด กสทช. เกินครึ่งก็ยังเป็นนายทหารยศใหญ่ๆ แต่ของใหม่หนักกว่า เพราะมีการเปลี่ยนกรรมการสรรหา เป็นตัวแทนจากองค์กรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคมเลย และไม่มีการยึดโยงกับภาคประชาชนเลยแม้แต่คนเดียวและองค์กรส่วนใหญ่ คสช. ก็แต่งตั้งมาเองกับมือทั้งสิ้น

นายปกรณ์วุฒิ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การชดเชยครั้งนี้อาจเป็นการฉวยโอกาสเอากระดาษเปล่ามาแลกเงินเป็นพันล้าน ซึ่งการฟ้องคดีสู่ศาลปกครองนี้ อาจจะเป็นการฟ้องเพื่อปูพรมเปิดทางรอบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ และในขั้นตอนสุดท้ายเป็นอำนาจของวุฒิสภา

“ต้องเรียนตามตรงว่าไม่มั่นใจจริงๆ ว่าสภาที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร เลือกมากับมือนั้น จะคัดเลือกบอร์ด กสทช. ชุดใหม่ จากมาตรฐานของใคร ​ผมขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกท่านมาช่วยกันจับตาเรื่องนี้ให้ดี อย่าปล่อยให้ใคร มาอวดอ้างว่าตัวเองเป็นคนดีเอาคำว่ารักชาติมาบังหน้าแต่กลับมาปล้นอำนาจของประชาชนเอาเงินของแผ่นดินไปเข้ากระเป๋าตัวเองและพวกพ้องได้อีก” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image