“ประพิศ จันทร์มา”อธิบดีกรมชลฯ ลูกชาวนาทุ่งระโนด กับภารกิจบริหารน้ำอย่างประณีตหน้าแล้ง(คลิป)

สัมภาษณ์พิเศษ : “ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน ลูกชาวนาทุ่งระโนด กับภารกิจบริหารน้ำอย่างประณีตหน้าแล้ง

จากการที่หลายพื้นที่เริ่มวิตกว่าหน้าแล้งของไทยปีนี้ อาจรุนแรงกว่าปีก่อน จากสัญญาณในหลายพื้นที่น้ำตามธรรมชาติลดลงเร็วหรือแห้งขอดแล้ว และสัญญาณเกิดภาวะน้ำเค็มเข้าถึงครัวเรือน และไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อย เพื่อให้เกิดความชัดเจน “มติชน” ได้เข้าสัมภาษณ์ “ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน คนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประพิศ มาจากรองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง พื้นเพเดิมเป็นลูกชาวนาทุ่งระโนด จ.สงขลา จึงมีความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรเป็นอย่างดี เล่าถึงแผนการบริหารจัดการน้ำภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน…

⦁สถานการณ์น้ำปี2564
จากข้อมูลพบว่าในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย แต่โดยภาพทั้งประเทศปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2562/63 ไม่มาก และอยู่ในภาวะแล้งแบบเดียวกัน เนื่องจากปริมาณน้ำฝนปี 2562 ถึง 2563 อยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้เกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาใกล้พื้นที่เมือง น้ำธรรมชาติที่จะปล่อยไปไล่ก็มีปริมาณไม่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะแบบนี้ก็ไม่เกิดได้บ่อย หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องน้ำ เตรียมการไล่น้ำเค็ม และยืนยันได้ว่าแม้ปีนี้แม้ปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างน้อย ก็ได้เตรียมพร้อมไม่กระทบต่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การปลูกพืชยืนต้นและพืชต่อเนื่อง

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2563/64 (ช่วง 1 พฤศจิกายน 2563-30 เมษายน 2564) ที่เตรียมไว้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ที่คำนวณจากปริมาตรน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน เขื่อนป่าสัก) ขนาดกลาง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีรวมกันทั้งสิ้น 25,857 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยวางแผนจัดสรรน้ำไว้ทั้งหมด 15,701 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นเพื่อการเกษตร 5,120 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,578 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 8,003 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้มีปริมาณน้ำสำรองไว้สำหรับต้นฤดูฝน 10,156 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแผนการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตชลประทานปีนี้ สำหรับ 5.84 ล้านไร่ นั้น แยกเป็นข้าวนาปรัง 1.12 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ พืชต่อเนื่องและพืชอื่นๆ 4.18 ล้านไร่ เช่น อ้อย 1.09 ล้านไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนตัน 2.14 ล้านไร่ บ่อปลาและบ่อกุ้ง 0.66 ล้านไร่ และอื่นๆ 0.29 ล้านไร่

Advertisement

ล่าสุด สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวม 10,496 ล้าน ลบ.ม. หรือ 42% ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้รวม 3,800 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้น้ำไปแล้ว 2,843 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 71% ของแผน ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ที่ใช้น้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 4,777 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 3,615 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 987 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของแผน

⦁เตรียมพร้อมแผนบริหารระยะยาว
แผนงานบริหารจัดการน้ำ ไม่ได้ทำเฉพาะหน้าหรือทำแบบเดิมๆ เท่านั้น ผมยึดหลักการบริหารน้ำแบบประณีต โดยการสร้างขบวนการการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นงานหลักแรกที่ผมจะให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการน้ำในระดับแปลงนา ผมเป็นลูกชาวนา รู้ว่าเมื่อข้าวออกรวงจากเขียวกำลังใกล้เหลือง เหลือน้ำในนา 1-2 นิ้วก็เพียงพอให้ต้นข้าวเจริญเติบโตจนเก็บเกี่ยวได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ชลประทานต้องเพิ่มความละเอียด พิถีพิถันในการส่งน้ำ สร้างความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับของเกษตรกร วิธีการนี้จะช่วยประหยัดน้ำ และประหยัดค่าใช้จ่ายของเกษตรกร

ภาวะน้ำน้อยในไทย น่าจะเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง จากสถิติพบว่า ปีน้ำน้อยและปีน้ำมาก จะเกิดสลับกันทุก 4-5 ปีซึ่งภาวะน้ำน้อยรอบนี้มีมาต่อเนื่องแล้ว 2 ปี ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ 3 ดังนั้น การดำเนินการจะต้องมีการจัดทำแผนรองรับ บนพื้นฐานข้อมูลสถิติผนวกกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการประมวลและวางแผน ซึ่งแยกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เฉพาะหน้าต้องรณรงค์เรื่องการประหยัดใช้น้ำ แต่ให้มั่นใจว่าเราดูแลน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคไม่ให้ขาดแคลนแน่นอน และน้ำเพื่อรักษานิเวศก็ไม่ได้รับผลกระทบ แต่การปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 ต้องขอความร่วมมืองดการเพาะปลูกขณะเดียวกัน สำหรับพื้นที่เสี่ยงจะเกิดภัยแล้ง กรมชลประทานได้ส่งอุปกรณ์ หรือเครื่องมือออกไปช่วยเหลือ

อีกมาตรการ คือ สร้างรายได้ผ่านการจ้างแรงงานในพื้นที่ที่ว่างจากไม่ทำนาปรัง หรือคนเมืองตกงานกลับถิ่นฐาน โดยมีเป้าหมายจ้างแรงงานทั่วประเทศ 90,000 คน ตอนนี้ผ่านเกณฑ์แล้วกว่า 10,000 คน

อีกทางหนึ่งที่จะทำคือ การเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำให้มากขึ้น ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ และการปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำให้สามารถเพิ่มเติมน้ำที่เก็บได้มากขึ้น บางแห่งสร้างใช้มา 20-30 ปี ทั่วประเทศกว่า 400 แห่ง บางเส้นทางน้ำก็ตื้นเขิน หลายแห่งเต็มด้วยตะกอน หรือ ผักตบชวา ควรเก็บน้ำได้ 200 ลบ.ม. ก็เหลือแค่ 80-100 ลบ.ม. บางพื้นที่ฝนชุกท้ายเขื่อนก็ต้องหาแหล่งรองรับไว้ มีการเชื่อมโยงอ่างสู่อ่าง มีการสูบกลับ สร้างทำนบดินหรือสิ่งก่อสร้างในลำน้ำเป็นช่วงๆ ขุดขยายแก้มลิงสร้างสมดุลการปล่อยและเก็บน้ำตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งต่อปีกรมชลประทานได้งบประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาทสำหรับบุคลากร ดูแลและพัฒนาแหล่งน้ำ เป้าหมายในปี 2579-80 ได้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 18 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 50 ล้านไร่

จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงทำให้ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ส่งผลต่อการผลิตน้ำประปา จ.ปทุมธานี กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำควบคุมความเค็มจนเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร แต่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะมีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น และค่าความเค็มจะเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกร ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมาจนถึงสถานีสูบน้ำสำแล ชะลอการรับน้ำหรือสูบน้ำในระยะนี้ เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์

ทีมข่าวเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image