‘พรีบิลท์’ แจกปันผล 40 สต./หุ้น มั่นใจปีนี้จะโตแบบก้าวกระโดด
นายวิโรจน์ เจริญตรา รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จํากัด (มหาชน) (PREB) เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2563 ว่ายังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างจะต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มาตลอดทั้งปี แต่บริษัทยังสามารถทำผลงานได้ดีมีกำไร และสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 4,279.37 ล้านบาท ลดลงจาก ปี 2562 ที่มีรายได้ 4,295.43 ล้านบาท หรือลดลง 16.06 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 0.37% และมีกำไรสุทธิ 165.67 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นเฉลี่ย 0.54 บาทต่อหุ้น โดยกำไรสุทธิปี 2563 ลดลง 106.12 ล้านบาท จากงวดปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 271.79 ล้านบาท หรือลดลง 39.04%
นายวิโรจน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้กำไรสุทธิปี 2563 จะลดลงจากปี 2562 คณะกรรมการบริษัทยังมีมติจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดให้ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.40 บาท หรือจำนวนไม่เกิน 123.48 ล้านบาท คิดเป็นเงินปันผล 74.07% ของกำไรสุทธิ “ถือเป็นการจ่ายเงินปันผลที่สูงกว่านโยบายปันผลที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการ (งบการเงินเฉพาะกิจการมีกำไรสุทธิ 166.60 ล้านบาท) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้น และช่วยแบ่งเบาภาระในภาวะที่ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คณะกรรมการจึงมีนโยบายให้จัดสรรกำไร มาจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นให้มากที่สุด โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 โดยจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นวันที่ 22 เมษายนนี้
นายวิโรจน์กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่บริษัทยังสามารถสร้างผลกำไรสุทธิได้อย่างต่อเนื่องในปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว และการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นผลจากความพยายามในการดำเนินธุรกิจและการลดต้นทุน ตลอดจนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อชดเชยกับยอดขายที่ลดลง ทำให้บริษัท ยังสามารถทำกำไรสุทธิได้ โดยเป็นกำไรจากส่วนงานรับเหมาก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะงานรับเหมาก่อสร้างที่เน้นงาน “ระดับซูเปอร์ ไฮเอนด์” ที่ต้องใช้เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญระดับสูง ซึ่งมีคนทำได้น้อย จึงมีคู่แข่งไม่มาก ขณะที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ “ระดับซูเปอร์ ไฮเอนด์” ยังคงมีความต้องการในตลาด เพราะไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มากจากภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้บริษัทยังมีงานรับเหมาก่อสร้างต่อเนื่อง
“ที่สำคัญช่วงโควิดที่ผ่านมา เจ้าของโครงการมีการใช้รูปแบบ Close selection โดยเชิญผู้รับเหมาเข้าไปเจรจาเพียง 1-2 ราย และไม่ได้แข่งขันกันที่ราคาต่ำสุด แต่เป็นการเลือกจากการบริหารจัดการและวางแผนร่วมกับเจ้าของโครงการเพื่อสร้าง VALUE ENGINEERING ให้งานก่อสร้างออกมาดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ในราคาที่สมเหตุสมผล” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการรับรู้รายได้จากบริษัทย่อยคือ บริษัทพรีบิลท์ ดีเวลลอปเม้นต์ ที่ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์บ้านเดี่ยวระดับไฮเอนด์ “พรรณนา” ย่านพุทธมณฑลสาย 3 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยเริ่มรับรู้รายได้มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2563 ถือว่าการขยายธุรกิจมาลงทุนทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบของบริษัทเองได้เดินมาถูกทางแล้ว เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ที่ต้องการบ้านระดับบนและระดับกลาง ยังคงมีความต้องการซื้อบ้านและเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือได้รับผลกระทบไม่มาก
นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปี 2564 ว่ามั่นใจว่าปีนี้จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด จากปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (backlog) ทั้งงานรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 8,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วง 3 ปี คือปี 2564-2565 และช่วงครึ่งปี 2566 โดยปีนี้จะรับรู้รายได้ในสัดส่วนราว 50-60% เพราะปีนี้จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการทำงานและการลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทยังคงเดินหน้าเข้าร่วมประมูลรับงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง