เดินหน้า สร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถึงเมืองทองธานี ลงทุน 4.2 พันล้าน คาดปี 67 ได้ใช้

เดินหน้า สร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ถึงเมืองทองธานี ลงทุน 4.2 พันล้าน คาดปี 67 ได้ใช้

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ อาคารสโมสรและหอประชุม ชั้น 3 กระทรวงคมนาคมนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (เอ็นบีเอ็ม) โดย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ เอ็นบีเอ็ม โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งอย่างเต็มที่ ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้บรรจุโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และเอ็นบีเอ็ม ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูจะอยู่ที่ 14-42 บาท

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้รวมค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานี ไปตามถนนแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT-01) และวิ่งต่อเนื่องไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT-02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

Advertisement

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า มีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างและเวนคืนที่ดินใต้ทางด่วน และแยกทางเข้าเมืองทองธานี ภายในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ส่วนเอกสารขอเข้าพื้นที่ (เอ็นทีพี) จะออกได้ก็ต่อเมื่อเวนคืนที่ดินเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คน/เที่ยว/วัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเปิดทั้งเส้นทาง ภายในปี 2566

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ เอ็นบีเอ็ม กล่าวว่า ส่วนเรื่องการยกเลิกค่าแรกเข้าระหว่างสถานี ของรถไฟฟ้าในระบบสัมปทานของ รฟม. นั้น รฟม. ได้มีการระบุไว้ในสัญญาร่างขอบเขตงาน (ทีโออาร์) ตอนประมูล แล้วว่าประชาชนจะไม่เสียค่าแรกเข้า ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ดำเนินการโดย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ที่มีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเจรจายกเลิกค่าแรกเข้าในภายหลัง

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ในส่วนของวงเงินลงทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท ทาง บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือบีแลนด์ ได้มาช่วยลงทุนไม่เกิน 1,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผู้รับสัมปทานต้องแบ่งกันจ่ายตามสัดส่วน ทั้งนี้ สำหรับจำนวนขบวนรถที่จะนำเข้ามาคาดว่ารวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู จะนำเข้ามา 88 ขบวน โดยสีชมพูจะมีมากกว่าเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image