สศค. หวังวัคซีนฟื้นท่องเที่ยวปลายปี 64 เล็งปรับจีดีพี เม.ย.นี้

สศค. หวังวัคซีนฟื้นท่องเที่ยวปลายปี 64 เล็งปรับจีดีพี เม.ย.นี้ ชี้ โควิด-19 ระลอกใหม่ยังทำพิษ ใช้จ่าย-ท่องเที่ยว เดือน ม.ค.64 ชะลอตัว

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยการนำเข้าวัคซีนป้องกันวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2564 จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีแผนที่จะกระจายให้คนไทยจำนวนมาก ส่วนการปรับประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ขณะนี้ยังไม่มีการหารือ แต่คาดว่ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะมีการปรับอีกครั้งในเดือนเมษายน 2564 ในปัจจุบันตัวเลขคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) อยูที่ 2.8%

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า ถ้าหากวัคซีนได้ผลดี ประชาชนไทยได้รับการฉีดวัคซีน อาจทำให้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้ มีคนออกมาท่องเที่ยวมากกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งในต่างประเทศเองหากมีการแจกจ่ายวัคซีนแล้ว ในช่วงปลายปี 2564 น่าจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ประเมินไว้ 5 ล้านคนต่อปี

นายวุฒิพงศ์ กล่าวถึงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลง -7.8% เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในขณะที่ รายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2564 ยังคงขยายตัวได้ที่ 8.0% ต่อปี

Advertisement

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาลดลง -5.4% ต่อปี ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ -9.9% ต่อปี

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 0.4% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 83.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับผู้ส่งออกประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น

Advertisement

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมกราคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 7,649 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวอาเซียน ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

นายวุฒิพงศ์ กล่าวว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.3% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ 52.1% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 2.568 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image