คาดปีนี้ ฝนมาเร็ว เจอพายุฤดูร้อน กอนช. ติดตามสถานการณ์ เตรียมรับน้ำ เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วง

คาดปีนี้ ฝนมาเร็ว เจอพายุฤดูร้อน กอนช. ติดตามสถานการณ์ เตรียมรับน้ำ เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการคาดการณ์ลักษณะอากาศในปี 2564 ของนักวิชาการหลายสำนัก ที่ระบุว่าปี 2564 จะมีลักษณะคล้ายปี 2539 ว่าฝนปีนี้จะมาเร็วกว่าปกติ โดยคาดว่าในเดือนเมษายนนี้ อาจจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติ และอาจเกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งถือว่าเป็นผลดีต่อการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และความเค็มได้ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ประกอบกับ 9 มาตรการแก้ไขภัยแล้งที่ทุกหน่วยงานภายใต้ กอนช.ได้เร่งรัดดำเนินการ ปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การคาดการณ์ดังกล่าวจึงไม่น่ากังวลหนัก เนื่องจากหากปริมาณฝนตกหนักในช่วงปลายฤดูแล้งต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน สภาพดินที่แห้งแล้งต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่เข้าสู่ฤดูแล้ง สามารถอุ้มน้ำได้มาก

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาด ขณะนี้ก็สามารถรองรับน้ำฝนได้มากเช่นเดียวกัน เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีการจัดสรรน้ำไปเพื่อกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพบว่า มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% มีถึง 8 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือถึง 6 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ที่จะมีปริมาณฝนตกลงมาในช่วงแรก นอกจากนี้ ยังรวมถึงแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ป่าสัก และแม่กลอง โดยเฉพาะแม่น้ำโขงที่ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ย 10-12 เมตร

Advertisement

นายสมเกียรติ กล่าวว่า สำหรับการคาดการณ์ว่าจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนกรกฎาคม ทาง กอนช.จะมีการวิเคราะห์ ติดตามพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อพิจารณามาตรการรองรับผลกระทบล่วงหน้าอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน รวมถึงในเดือนสิงหาคมที่คาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่อง เดือนกันยายนจะมีฝนตกมาก จะมีการหารือร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสสน. เพื่อประเมินปริมาณฝนอย่างใกล้ชิดในแต่ละช่วงเวลาอีกครั้ง

เนื่องจากขณะนี้ยังเป็นระยะไกลอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ค่อนข้างมาก รวมถึงพายุหมุนเขตร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยสถิติพายุที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2539 มีพายุจรทางภาคเหนือ จำนวน 2 ลูก และภาคใต้ จำนวน 2 ลูก ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นระยะๆ และกำหนดแผนปฏิบัติการให้หน่วยงานปฏิบัติเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันโดยเร็วต่อไป

นายสมเกียรติ​ กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำต้นทุนถือว่ายังมีน้อยมาก ซึ่งต้องใช้ให้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝน สทนช.ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ สำรวจและประเมินแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยกว่า 30% วางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 และปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน

โดยนำข้อมูลการคาดการณ์ฝนจากระบบวันแมป เพื่อนำไปใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำเพื่อวางแผนการบริหารจัดการให้เหมาะสม รวมถึงให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนแหล่งน้ำบนดินและผิวดิน ให้ประชาชนไม่ได้รับกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ขณะที่มาตรการควบคุมค่าความเค็มบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะเกิดค่าความเค็มเกินเกณฑ์มาตรฐานได้อีกในช่วงเดือนมีนาคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image