กยศ. เอาจริง! เตรียมทำประวัติผู้กู้ยืม สกัดเบี้ยวหนี้

กยศ. เตรียมจัดทำระบบกลางตรวจสอบเครดิต สร้างประวัติผู้กู้ยืม ป้องกันการเบี้ยวหนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหากรณีผู้กู้ยืมหรือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ไม่ใช้หนี้คืนจนกลายเป็นหนี้เสียนั้น ขณะนี้กยศ.เตรียมไปพูดคุยกับเครดิตบูโร เพื่อจัดทำระบบข้อมูลกลางสำหรับการตรวจสอบเครดิตของผู้ที่กู้ยืมว่า มีสถานะหรือหนี้คงค้างจนเป็นหนี้เสียเท่าไร มีการผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ลักษณะเดียวกับระบบเครดิตบูโร โดยกยศ.จะทำเป็นภายในของกยศ.เองเพื่อสร้างประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้ยืม

อ่านข่าว กยศ. ขยายเวลาลดเบี้ยปรับถึง 31 มี.ค. 64

“ระบบตรวจสอบเครดิต อาจจะช่วยได้ในอนาคต เพราะในสมัยก่อน ถ้าใครไปเรียนต่างประเทศจะกลัวระบบตรวจสอบเครดิต (เครดิตบูโร) กันมาก เพราะเมื่อมีเครดิตไม่ดีแล้วจะไปทำอะไรในอนาคตไม่ได้ ดังนั้นใครๆ ต่างก็พยายามทำให้เครดิตของตนเองดี ซึ่งตอนนี้ ทาง กยศ.ยังไม่อยากให้ลูกหนี้เครดิตเสีย จึงคิดจะทำเป็นระบบเครดิตของกยศ.เอง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติของผู้กู้ยืม” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ระบบข้อมูลกลางที่จัดตั้งขึ้นนั้น หากผู้กู้ยืม ของ กยศ. ผิดนัดชำระหนี้เป็นเวลานานหรือปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสีย จะมีการขึ้นบัญชีของระบบที่ กยศ. จัดทำขึ้น ทำให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์ในเครือญาติ เช่น พี่-น้อง ลูก หลาน เป็นต้น ไม่สามารถทำเรื่องขอกู้ยืมเงินจาก กยศ.ได้ในอนาคต ดังนั้นวิธีนี้น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระตุ้นให้ลูกหนี้ชำระคืนเงินมากยิ่งขึ้น

Advertisement

นายกฤษฎา กล่าวว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากยศ.ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมฝ่าวิกฤตโควิด-19 มาหลายมาตรการ อาทิ การพักชำระหนี้ 2 ปี กรณีผู้ที่งวดชำระเป็นรายปี โดยจะกลับมาชำระหนี้งวดปี 2563 ในเดือนก.ค.2565 คิดดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินแค่ 1% ต่อปี ลดอัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้เหลือ 0.5% ต่อปี เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีความผ่อนปรนมาก และถ้าใครเป็นหนี้เสียกับทางกยศ.อยู่ ก็ให้มาชำระหนี้ให้เป็นปัจจุบัน และผ่อนชำระต่อได้

“มาตรการของกยศ.มีเยอะแยะมากมาย และทางกยศ.ก็พร้อมจะช่วยเหลือเต็มที่ ขอเพียงให้ลูกหนี้มาแจ้งหรือติดต่อ ทางกยศ.ก็จะช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ให้” นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าของเรื่อง กยศ. นำที่ดินของลูกหนี้ขายทอดตลาด ทั้งที่ผู้กู้ยืมมีการชำระหนี้ของ กยศ. ตามปกติ นั้น จะต้องดำเนินการนำที่ดินที่ยึดไปมาคืนให้ผู้เสียหายให้ได้ ซึ่งในเบื้องต้นทางคนที่ซื้อที่ดินยอมขายที่ดินคืน กยศ.แล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเรื่องราคาที่ดิน รวมทั้งทางบริษัททนายความที่รับงานจาก กยศ. ก็ยอมรับความผิดและพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image