‘ธปท.’ ชี้ภาวะเศรษฐกิจ ม.ค. 64 เห็นผลกระทบโควิดชัดขึ้น การฟื้นตัวฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า

‘ธปท.’ ชี้ภาวะเศรษฐกิจ ม.ค. 64 เห็นผลกระทบโควิดชัดขึ้น การฟื้นตัวฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนายการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัส-19 ระลอกใหม่ชัดเจนขึ้น ทำให้การฟื้นตัวไม่ทั่วถึงมากขึ้น แม้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมไม่รุนแรงเท่าการระบาดรอบแรก เพราะความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาดที่รัฐบาลใช้ในบางพื้นที่ และบางกิจกรรมน้อยกว่าการระบาดในรอบแรก

โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวแย่ลงในทุกหมวดการใช้จ่ายตามความเชื่อมั่นผู้บริโภค และกำลังซื้อของครัวเรือนที่ลดลง ซึ่งความจริงแล้วลดลงมาตั้งแต่เดือนก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องในเดือนนี้

ขณะเดียวกันดัชนีการลงทุนภาคเอกชน และดัชนีการผลิตในภาคบริการก็ปรับลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่สอดคล้องกัน โดยยังเห็นการส่งออกไทยยังสามารถเติบโตได้ตามทิศทางการค้าโลก แตกต่างจากการระบาดรอบแรก ทำให้การส่งออกยังสามารถพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาไว้ได้ แต่ยังเห็นภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูงจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ที่ยังมีอยู่เป็นแรงกดดันเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ธปท.มีการทบทวนประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในปลายเดือนมีนาคมนี้

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ด้านภาคการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำที่หดตัวจากผลของฐานสูงในปี 2562 จะมีมูลค่าการส่งออกขยายตัว 5.5% ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลก โดยมองว่าแนวโน้มการส่งออกจะยังดีต่อไปในระยะต่อจากนี้

Advertisement

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง แม้ชะลอลงบ้างตามรายจ่ายลงทุน เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดลง ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานปรับตัวแย่ลงจากผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า สำหรับตลาดแรงงานปรับตังแย่ลง โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่โควิด-19 แม้จำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมจะเพิ่มขึ้นบ้าง หลังจากทยอยลดลงต่อเนื่องในช่วงการเปิดเมืองก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้เริ่มปรับตัวขึ้นอีกครั้ง

โดยจากการสำรวจผู้ประกอบอาชีพอิสระ พบว่าได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสรอบใหม่รุนแรงมาก อาทิ ผู้ประกอบอาชีพหาบเร่และแผงลอย รายได้ลดลงมากกว่า 50% อาชีพแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง รายได้ลดลง 60-90% สปาและร้านนวด ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก รายได้ลดลงถึง 90% ในบางพื้นที่

Advertisement

โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมพิเศษ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลก็มีมาตรการช่วยเหลือเสริมเข้ามาทั้งการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละครึ่ง ซึ่งเป็นตัวช่วยพยุงกำลังซื้อตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 รวมถึง ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีเม็ดเงินเสริมเข้ามาอีกในส่วนของโครงการเราชนะ และม.33 เรารักกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกในการพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะข้างหน้าได้

“ในระยะถัดไป ต้องยอมรับว่ามีความกังวลอย่างต่อเนื่อง แม้เดือนมกราคมที่ผ่านมา จะเห็นว่าข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเห็นการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการภาครัฐที่เข้ามาดูแล โดยหลังจากหารือกับภาคเอกชน พบว่ามีความแตกต่างในแง่การได้รับผลกระทบ และการฟื้นตัวพอสมควร

โดยภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักและยาวที่สุด ซึ่งประเมินภาคการท่องเที่ยวมองภาพการเข้ามาของต่างชาติจะทยอยเข้ามาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงขึ้นอยู่กับการระบาดไวรัส และประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 รวมถึงนโยบายการเปิดประเทศ และการอนุญาตให้ออกนอกประเทศของประเทศต้นทางด้วย ส่วนธุรกิจอื่นๆ ยังสามารถปรับตัวได้ ทำให้สัญญาณของธุรกิจบางประเภทยังต้องการความช่วยเหลือ อาทิ การเพิ่มสภาพคล่อง จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูแลต่อไป” นางสาวชญาวดี กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image