“ซิปเม็กซ์” ระบุร่างกฎเกณฑ์คุณสมบัตินักลงทุนหลักทรัพย์ดิจิทัลเป็นร่างที่ดีปกป้องนักลงทุน

เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย

“ซิปเม็กซ์” ระบุร่างกฎเกณฑ์คุณสมบัตินักลงทุนหลักทรัพย์ดิจิทัลเป็นร่างที่ดีปกป้องนักลงทุน

ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด แพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎเกณฑ์คุณสมบัติสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ที่จะมีการบังคับใช้เร็วๆ นี้ว่า ในฐานะที่ซิปเม็กซ์เปิดธุรกิจในตลาดประเทศไทย เรามีทิศทางชัดเจนว่าจะมุ่งมั่นที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนให้มากที่สุด โดยร่างคุณสมบัติสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำเสนอโดยสำนักงาน ก.ล.ต. นั้นมาจากเจตนาที่ดี เพื่อปกป้องนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนหน้าใหม่ และลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด สินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นธุรกิจใหม่ และมีความละเอียดอ่อน อย่างไรก็ดี เราสามารถเห็นได้ถึงวิวัฒนาการของธุรกิจดังกล่าวอย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นที่จะต้องเติบโตแบบมีกรอบการดำเนินงานที่ชัดเจน ทั้งนี้สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ใช้เวลาที่ผ่านมาเพียง 3 ปี ในการพัฒนากฎระเบียบ และมีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 บัญญัติให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งประกอบด้วย 1. โทเคนดิจิทัล และ 2. คริปโทเคอร์เรนซี

“ร่างหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะเสนอมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำกับ และพัฒนาตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้น่าเชื่อถือสำหรับผู้ลงทุน อย่างไรก็ดี ร่างกฎเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้ความเหมาะสม โดยกำแพงการลงทุนจะต้องไม่สูงเกินความจำเป็น และจำกัดโอกาสในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ผมเชื่อว่าการร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อรับรองการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สังคมทุกภาคส่วนเข้าถึงได้เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งข้อกังวลหนึ่งของผมคือ หากร่างคุณสมบัติ ณ ปัจจุบันมีผลบังคับใช้จริง ความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเพิ่มขึ้น อาจจะผลักดันให้นักลงทุนเข้าสู่ตลาดที่ไม่มีการควบคุมหรือไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทย ข้อนี้คือหนึ่งในปัจจัยที่จะต้องถูกพิจารณาอย่างระมัดระวังคือ เงินทุนจำนวนมากนั้นอาจจะไหลออกจากประเทศไทย ส่งผลเสียในระยะยาว และเป็นอุปสรรค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในภูมิภาค” ดร.เอกลาภ กล่าว

ดร.เอกลาภ กล่าวว่า ทั้งนี้ ส่วนที่เห็นด้วยอย่างยิ่งคือการให้นักลงทุนเรียนรู้ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านการให้ข้อมูลโดยใช้สื่อการเรียนรู้ก่อนการลงทุน ควรเป็นมาตรฐานที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนก่อนทำการซื้อขาย ในฐานะที่ “ซิปเม็กซ์” ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจนี้ จึงเป็นความรับผิดชอบของบริษัท ที่จะให้ความรู้ ที่ครอบคลุมหัวข้อเรื่องลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อประเมินทดสอบความรู้ผู้ลงทุนก่อนเริ่มให้บริการแก่ผู้ลงทุนด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักลงทุนรายย่อยที่ไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุน มีความสนใจในการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม หรือบทวิเคราะห์ และบทความต่าง ๆ ที่ทางบริษัทอยู่เป็นประจำ

ดร.เอกลาภ กล่าวว่า ด้วยมาตรฐานการปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้เราไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องจำกัดหรือออกมาตรการการควบคุมเกินความจำเป็น เนื่องจากผู้ลงทุนจะได้รับข้อมูลรวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างถี่ถ้วน ตามสิทธิและเสรีภาพในการลงทุนของนักลงทุน ถือเป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ผมเชื่อมั่นว่าจากประสบการณ์ของสำนักงาน ก.ล.ต.และผู้ประกอบการรวมถึงนักลงทุน จะได้มีโอกาสหารือร่วมกันอย่างรอบคอบต่อร่างกฎเกณฑ์ใหม่ ให้มีความเหมาะสมและดีที่สุด สามารถอุดร่อยโหว่หรือลดโอกาสความสูญเสียด้านการลงทุน และลดความเสี่ยงต่อการลงทุนให้กับนักลงทุนได้ดีที่สุดไปพร้อมๆกับการเปิดใจให้กว้างที่จะเรียนรู้ว่า นักลงทุนในตลาดก็กำลังพัฒนาหาแนวทางการลงทุนใหม่ๆเช่นกัน ในขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หัวใจหลักของ”ซิปเม็กซ์” ยังคงอยู่ที่การให้ความรู้กับลูกค้าใหม่ ๆ และเสริมสร้างนักลงทุนเพื่อให้มีประสบการณ์เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน ผมเชื่อมั่นว่าการร่วมมือกับสำนักงาน ก.ล.ต. จะนำไปสู่การแก้ไขข้อกังวลต่าง ๆ ได้ในระยะยาว” ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล กล่าวปิดท้าย

Advertisement

“ซิปเม็กซ์” มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 โดยมูลค่าการซื้อขายในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตอย่างทวีคูณในปี 2564 นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดจากการระดมทุนครั้งล่าสุดจำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐนำโดยธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) จาก บริษัท Jump Capital ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ” ดร.เอกลาภ กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image