‘สภาพัฒน์’ นำร่องกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ระดมสมองหาไอเดียแผนพัฒนาฯ 13

‘สภาพัฒน์’ นำร่องกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน ระดมสมองหาไอเดียแผนพัฒนาฯ 13

นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในฐานะประธานการประชุมระดมความเห็นต่อ “กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (.. 2566 – 2570)” ระดับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ภารกิจสำคัญประการหนึ่งคือ การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (.. 2560 –2565) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ผ่านมา สศช. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาสำคัญของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

นางสาวจินางค์กูร กล่าวว่า สศช. ได้จัดกิจกรรมการระดมความเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมเมษายน 2564 ในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดเวทีระดมความเห็นในระดับกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ การระดมความเห็นเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง รวมถึงการจัดให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวกและทั่วถึงผ่านช่องทางออนไลน์และสื่อสาธารณะ ซึ่งภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้มาประมวลและปรับปรุงกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาฯ หลังจากนั้น จะแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 แต่ละด้าน เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ที่สอดคล้องกับกรอบที่จัดทำไว้ และจะมีการระดมความเห็นร่วมกับภาคีการพัฒนาต่อร่างยุทธศาสตร์ของแผนฯในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องต้นปี 2565 ต่อไป

นางสาวจินางค์กูร กล่าวว่า หลังจากนั้น จะเป็นการนำเสนอร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13” โดยกำหนดแนวทางและหมุดหมายการพัฒนาให้ตอบสนองกับบริบทการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 ของยุทธศาสตร์ชาติ คือ กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องทำ คือ การเปลี่ยนผ่านประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากร ไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2. การเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่มีเพียงบางกลุ่มที่เข้าถึงโอกาสไปสู่สังคมที่มีโอกาสสำหรับทุกคนและทุกพื้นที่ หรือการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค 3. การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตและการบริโภคที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยหรือการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และ 4. การเปลี่ยนผ่านจากกำลังคนทักษะต่ำและภาครัฐที่ล้าสมัย ไปสู่กำลังคนและภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง เพื่อเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image