บสย.อัด 3 หมื่นล. อุ้มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว-กลุ่มเอ็นพีแอลแต่ธุรกิจยังไปได้

บสย.อัด 3 หมื่นล. อุ้มเอสเอ็มอีท่องเที่ยว-กลุ่มเอ็นพีแอลแต่ธุรกิจยังไปได้

ที่กระทรวงการคลัง นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ประเมินผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว ปี 2563 รายได้ลดลงเหลือ 8 แสนล้านบาท ลดลง 72.8% จากปี 2562 มีรายได้ 2.99 ล้านล้านบาท

อ่านข่าว ชง”บิ๊กตู่”เคาะเอสเอ็มอีคนละครึ่ง สสว.อัด 80 ล้านช่วยลดต้นทุน

ขณะที่ปีนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ยังถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอน บสย. จึงเร่งจัดสรรวงเงินค้ำประกันเพื่อดำเนินโครงการเฟส 2 เปิดตัวโครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2 เปิดรับคำขอตั้งแต่ วันที่ 2 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง วงเงินค้ำประกัน 10,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท และระยะเวลาค้ำประกันสูงถึง 10 ปี

Advertisement

“โครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2 คาดว่าจะสร้างสินเชื่อในระบบไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และพยุงการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจได้ถึง 180,000 ราย โครงการนี้ยังสนับสนุนธนาคารให้พิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยอัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชย สูงถึง 35% ซึ่งถือเป็นการชดเชยความเสียหายในอัตราสูงที่สุดของโครงการค้ำประกัน บสย.”นายรักษ์กล่าว

เดือนมกราคม 2564 บสย.ได้ดำเนินโครงการ บสย.SMEs ไทยสู้ภัยโควิด1 วงเงินค้ำประกัน 5,000 ล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยื่นขอสินเชื่อเต็มวงเงิน มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเข้าถึงโครงการค้ำประกันเพียง 10% ดังนั้น โครงการ บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2 จึงเน้นดูแลผุ้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง

นอกจากนี้ ช่วงเดือนเมษายน บสย. เตรียมออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ค้างชำระค่างวดไม่เกิน 3 เดือน และ ธุรกิจที่ค้างชำระจนเป็นหนี้เสีย ค้างไม่เกิน 2 ปี โดยให้อัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชยที่ 40% คาดใช้วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องมาจาก โครงการสร้างไทย1 ของ บสย. ในช่วงต้นปี 2563 วงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียแต่ยังดำเนินธุรกิจได้

ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียทั้งระบบ มีมูลหนี้ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียแต่ยังดำเนินธุรกิจได้ ประมาณ 60-70% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยโครงการ สร้างไทย 1 ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นหนี้เสียแต่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้ประมาณ 98% ของลูกค้าทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image