คิดเห็นแชร์ : สตาร์ตอัพไทย ความฝันของเถ้าแก่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเพียงในซีรีส์

สตาร์ตอัพไทย ความฝันของเถ้าแก่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเพียงในซีรีส์

สตาร์ตอัพไทย ความฝันของเถ้าแก่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้เป็นเพียงในซีรีส์

สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ กระแสของสตาร์ตอัพนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว แต่มาฮิตติดลมบนอีกครั้งเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าฝันเป็นเถ้าแก่จากการเริ่มต้นทำธุรกิจให้เติบโตก้าวไปสู่ระดับโลก ดังเช่นบริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon Facebook หรือ Tesla เป็นต้น

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกชะลอตัว หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ และมีหลายๆ สิ่งไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยพลิกวิกฤตโดยใช้โอกาสนี้สร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการผลักดันและส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์แนวโน้มความต้องการของโลกในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) สตาร์ตอัพจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทยได้ในอนาคต

หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “สตาร์ตอัพ” (Startup) กันบ้างแล้ว แต่อาจยังมีข้อสงสัยว่า สตาร์ตอัพกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความแตกต่างกันอย่างไร อันที่จริงแล้ว สตาร์ตอัพก็คือเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจใน 3 กลุ่ม ได้แก่ การผลิต การค้า และการบริการ หากแต่เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเริ่ม

Advertisement

ทำธุรกิจใหม่ๆ โดยมีแนวคิดหรือโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถทำซ้ำ (repeatable) และขยายธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด (Scalable) ซึ่งสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะใช้ไอทีเป็นหัวใจหลักในการประกอบธุรกิจ เพราะไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแตกต่างระหว่างสตาร์ตอัพกับเอสเอ็มอี โดยเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสตาร์ตอัพนั้น จะใช้วิธีหาเงินทุนจากการนำเสนอไอเดียและโมเดลธุรกิจให้กับนักลงทุน (Venture Capital : VC) ที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจนั้น เพราะการมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเติบโตของสตาร์ตอัพในอนาคต

สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งมีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี ได้ให้นิยาม “สตาร์ตอัพ” ไว้ว่า “วิสาหกิจเริ่มต้น” ซึ่งหมายถึง บุคคล กลุ่มบุคคล หรือธุรกิจที่เริ่มต้นจากการมีแนวคิด โมเดลทางธุรกิจ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ธุรกิจ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้และผลกำไรของธุรกิจให้ขยายตัวแบบก้าวกระโดดและเติบโตไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ได้

Advertisement

โดยจุดเน้นของสตาร์ตอัพหรือวิสาหกิจเริ่มต้น ที่ได้รับการดูแลและบ่มเพาะอยู่นั้น จะมีคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้ 1) มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงลึก (Deep Technology) ที่ได้จากการศึกษา วิจัยและพัฒนา และลอกเลียนแบบได้ยาก 2) มีรูปแบบธุรกิจใหม่ที่สามารถแก้ปัญหาและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน และเป็นปริมาณที่มากเพียงพอต่อการทำซ้ำและขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดดได้

และ 3) มีเป้าหมายในการขยายตัวและเติบโตทางธุรกิจ พร้อมรับการลงทุนหรือร่วมทุนจากนักลงทุนหรือกองทุนต่างๆ ได้ นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องการใช้เครือข่าย (Networking) ซึ่งเป็นจุดแข็งของกรม มาช่วยเติมเต็มในการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพให้สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่

1.การขยายเครือข่ายสตาร์ตอัพ โดยการเฟ้นหาสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพจากหน่วยงานเครือข่ายจากทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ พร้อมบ่มเพาะให้มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน

2.การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่สนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ ด้วยการจัดกิจกรรมเครือข่ายนักธุรกิจอุตสาหกรรมและนักร่วมลงทุน (Industry & Investor Forum) เพื่อให้สตาร์ตอัพมีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

3.การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมหรือเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมนำโซลูชั่นของสตาร์ตอัพไปใช้งานจริง และเป็นตลาดให้ภายในประเทศ

4.การขยายเครือข่ายวิชาการนานาชาติ โดยการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายวิชาการระดับนานาชาติในประเทศไทย เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายระหว่างสตาร์ตอัพและนักลงทุนไทย กับสตาร์ตอัพและนักลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติที่มีมูลค่าตลาดสูงขึ้น

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ตอัพทั้งในระยะเริ่มต้น (Early Stage) คือ โครงการ Angel Fund และในระยะเติบโต (Growth Stage) คือ โครงการ Startup Connect มีเครือข่ายสตาร์ตอัพที่บ่มเพาะมาตั้งแต่ปี 2559 และปัจจุบันในปี 2564 มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมมากกว่า 500 ราย โดยมีคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเถ้าแก่ ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นกว่า 75 ราย เพื่อให้พร้อมสำหรับกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อีกทั้งจะได้นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุน (Pitching) เพื่อให้เขาเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากผู้ร่วมลงทุนที่อยู่ในเครือข่ายของกรมต่อไป โดยในปี 2563 มีสตาร์ตอัพจำนวน 6 ราย ได้นำเสนอโมเดลธุรกิจ และมีนักลงทุนได้ร่วมลงทุนกับสตาร์ตอัพ รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท ถือเป็นก้าวสำคัญที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

สุดท้ายนี้ หากเราสามารถส่งเสริมและผลักดันให้คนรุ่นใหม่ที่มีฝันอยากทำธุรกิจ ด้วยแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ ให้กลายเป็นสตาร์ตอัพหรือจนเป็นยูนิคอร์นสัญชาติไทยได้ ประเทศไทยจะมีนักรบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจในไทยให้เข้มแข็ง สร้างรายได้ให้คนไทย และนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหากับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้อย่างแน่นอน ซึ่งท่านที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของการพัฒนาสตาร์ตอัพได้ที่ Facebook: Angelfundthailand นะครับ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image