นโยบายกระตุ้นศก. ไบเดน กดดันตลาดทุนโลก กรอบเงินบาท 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์

นโยบายกระตุ้นศก.ไบเดน ยังกดดันตลาดทุนโลก กรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน EASY INVEST บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 8 มีนาคมอยู่ที่ 30.53 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน

ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.40-30.60 บาทต่อดอลลาร์

ในสัปดาห์นี้ ต้องติดตามภาพรวมตลาดจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในสหรัฐ และมุมมองของธนาคารกลางต่อทิศทางเงินเฟ้อ

โดยในฝั่งสหรัฐจะได้รับแรงหนุนต่อจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ American Rescue Plan มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่จะมีการผ่านสภาในสัปดาห์นี้ งบประมาณดังกล่าว มีขนาดใหญ่เป็นรองเพียงงบช่วยเหลือเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติปี 2020 และมากกว่างบกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2009 ถึงเกือบสามเท่า

Advertisement

ขณะที่ฝั่งเศรษฐกิจ วันพุธจะมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐ (U.S. CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.36% ไม่ควรสร้างความกังวลให้กับเฟด

ขณะที่ผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) คาดว่าจะลดลงมาที่ระดับ 7.10 แสนตำแหน่งตามตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งในสัปดาห์ก่อน

ส่วนในฝั่งยุโรปจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ECB) ในวันพฤหัส คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility) -0.5% ตามที่ตลาดคาดไว้

Advertisement

ส่วนในตลาดเงิน ต้องติดตามผลกระทบบนบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปี มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความกังวลเรื่องงบประมาณขาดดุลที่มหาศาลของรัฐบาลสหรัฐ

สองประเด็นนี้มีโอกาสหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเชื่อว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐจะขยับขึ้นไปจนกว่าจะเจอฐานใหม่

ส่วนเงินยูโร (EUR) มองว่าจะมีแรงกดดันจาก ECB จึงแข็งค่าได้ยาก ขณะที่เยนญี่ปุ่น (JPY) เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย จึงมีโอกาสเจอกับแรงขายเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นด้วย

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 91.5-92.5จุด ระดับปัจจุบัน 91.9จุด

ด้านเงินบาทช่วงนี้ปรับตัวอ่อนค่าไปตามทิศทางของดอลลาร์และโดยรวมยังไม่เห็นนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ

สัปดาห์นี้จึงต้องจับตาผลกระทบจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐ ถ้าสามารถทำให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ก็มีโอกาสที่เงินบาทจะชะลอการอ่อนค่า และเริ่มสร้างฐานใหม่ในระดับปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักอยู่ที่ความเร่งของการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ ซึ่งสามารถกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงและเงินบาทอ่อนค่าได้ถ้ายีลด์ขยับขึ้นเร็วเกินไป

กรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 30.25-30.75 บาทต่อดอลลาร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image