อึ้งเด็ก 7 ขวบสูบยาเส้นแล้ว ศก.แย่คนไทยนิยมแทนบุหรี่ ทั้งที่อันตรายกว่า20เท่า

คนไทยหันสูบยาเส้นแทนบุหรี่ นักวิชาการเตือนอันตรายกว่า20เท่า อึ้ง 7 ขวบก็เข้าวงการยาเส้นแล้ว แนะรัฐเพิ่มภาษียาเส้น กันผู้สูบหน้าใหม่

นายอรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยได้เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาสูบยาเส้นเพิ่มมากขึ้น จนแซงหน้าบุหรี่ไปแล้ว โดยข้อมูลจากรายงานประจำปี 2563 ของการยาสูบแห่งประเทศไทย พบว่ามีอัตราการบริโภคยาเส้นมากถึง 26.19 ล้านกก. สูงกว่าบุหรี่ที่มีเพียง 22 ล้านกก. โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด จึงทำให้คนมีรายได้ลดลง จนต้องเปลี่ยนเลิกซื้อบุหรี่ที่มีราคาแพง และหันมาสูบยาเส้นที่ราคาถูกกว่าแทน โดยปัจจุบันยาเส้นมีราคาเฉลี่ยซองละ 15 บาท ซึ่งถูกกว่าบุหรี่ที่ราคาถึงซองละ 60-145 บาท

อ่านข่าว เปิดสูตรแก้หวยแพง!! สำนักงานสลากฯเอาจริงต้อง 80 บ.เท่านั้น

สาเหตุที่ทำให้ยาเส้นมีราคาถูกกว่าบุหรี่ เนื่องจากรัฐบาลมีการจัดทำโครงสร้างภาษียาสูบที่ไม่เป็นธรรม โดยคิดภาษียาเส้น เพียง 0.1 บาทต่อกรัม ซึ่งถูกกว่าภาษีบุหรี่ที่เก็บภาษีทั้งด้านปริมาณมวนละ 1.2 บาท และด้านราคาอีก 20-40% ซึ่งสูงกว่ายาเส้นถึง 17 เท่าตัว ดังนั้นหากรัฐบาลจะแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างจริงจัง จะต้องมีการขึ้นภาษียาเส้นเพื่อลดช่องว่างระหว่างราคายาเส้นกับราคาบุหรี่ โดยทุก 1% ที่มีการขึ้นภาษีบุหรี่จะต้องเพิ่มภาษียาเส้นไม่ต่ำกว่า 15.3% เพื่อลดพฤติกรรมการเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ไปสูบยาเส้นแทน

“ปัญหาการสูบยาเส้นของคนไทยถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการสูบยาเส้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าบุหรี่ถึง 20 เท่า และที่สำคัญยังพบว่าเด็กและเยาวชนเริ่มสูบยาเส้นตั้งแต่อายุ 7 ขวบด้วย ดังนั้นรัฐบาลควรเข้ามาดูแลแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะการขึ้นภาษียาเส้นจะมีผลกระทบต่อชาวบ้านหลายระดับ รวมถึงผลกระทบทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” นายอรรถกฤต กล่าว

Advertisement

สำหรับการพิจารณาทบทวนภาษียาสูบของกรมสรรพสามิตที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ ขอเสนอให้มีการปรับปรุงใหม่ โดยคิดภาษีด้านมูลค่าให้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด ไม่ต้องแบ่งแยกภาษีตามช่วงราคา พร้อมกับให้ลดภาษีจาก 40% ของราคาขายปลีก เหลือ 23% แต่ให้ขึ้นภาษีเชิงปริมาณจาก 1.2 บาทต่อมวน เป็น 1.4 บาทต่อมวนแทน เพื่อให้ราคาบุหรี่ไม่เพิ่มแบบก้าวกระโดดจนทำให้นักสูบปรับตัวไม่ทัน จนต้องหนีไปสูบบุหรี่เถื่อน หรือสูบยาเส้นแทนอีก

ขณะเดียวกันรัฐบาลควรพิจารณาขึ้นภาษียาเส้นควบคู่กันไปด้วย โดยให้ทยอยขึ้นแบบบันไดจากปัจจุบันเก็บภาษีที่ 0.1 บาทต่อกรัม เป็น 0.2 บาทต่อกรัม และให้ขึ้นไปอยู่สูงสุดที่ 0.7 บาทต่อกรัมในปี 2570 ซึ่งจะทำให้ยาเส้นมีราคาซอง 30 บาท ส่วนบุหรี่จะมีราคาเฉลี่ยที่ซอง 70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แตกต่างกันสุดขั้วมากเกินไป

รายงานข่าวจากรายงานประจำปี 2563 ของการยาสูบฯ ระบุว่า นับตั้งแต่กรมสรรพสามิตได้ปรับโครงสร้างภาษียาสูบเมื่อปี 2560 ทำให้มีปริมาณการสูบยาเส้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปี 2560 มียอดบริโภคยาเส้นเพียง 12.5 ล้านกก. และบุหรี่ 25.5 ล้านกก. แต่เมื่อมีการปรับโครงสร้างใหม่ในปี 2561 ทำให้ยาเส้นมียอดบริโภคเพิ่มเป็น 26 ล้านกก. บุหรี่ลดเหลือ 21.7 ล้านกก.

ส่วนในปี 2562 ยาเส้นมีการสูบลดลงไปเหลือ 23.4 ล้านกก. และบุหรี่กลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 22.4 ล้านกก. อย่างไรก็ตามต่อมา กรมสรรพสามิตได้มีการลดภาษียาเส้นสำหรับผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่หั่นและจำหน่ายยาเส้นเองเฉลี่ยไม่เกิน 12,000 กก.ต่อปี ให้เสียภาษีใน 2.5 สตางค์ต่อกรัม ลดจากเดิมที่จัดเก็บที่ 0.10 บาทต่อกรัม หรือ 10 สตางค์ต่อกรัม ส่งผลให้ปริมาณการสูบยาเส้นของคนไทยกลับมาเพิ่มอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image