สหภาพฯ เอ็มคอต ร้อง สคร.หลังมีการสั่งทำแผนฟื้นฟูเร่งด่วน จี้เร่งหาผอ.คนใหม่เข้ามาสางปัญหา

สหภาพฯ เอ็มคอต ร้อง สคร.หลังมีการสั่งทำแผนฟื้นฟูเร่งด่วน จี้เร่งหาผอ.คนใหม่เข้ามาสางปัญหา

นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานกรรมการสหภาพรัฐวิสาหกิจ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือเอ็มคอต เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ได้ไปยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสากิจ (สคร.) เรื่อง ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หลังจาก คนร.มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง โดย 1 ใน 4 คือ เอ็มคอต ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแล ควรติดตามเร่งรัดอย่างใกล้ชิด และทำแผนเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ภายใน 30 วัน

ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านเอ็มคอตเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาในขณะนี้ ทางสหภาพแรงงานฯ เห็นว่า ควรใช้โอกาสที่จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นคัดเลือกคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ที่มีความสามารถด้านธุรกิจเข้ามา และเร่งคัดสรร กรรมการผู้อำนวยการการใหญ่คนใหม่ เข้ามาเร่งบริหาร เพื่อสร้างรายได้

“สคร.ควรเข้ามามีบทบาท ในการสรรหาบอร์ด ที่มีความรู้ความสามารถในเชิงธุรกิจ รวมถึงเร่งพิจารณากรณี คลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ และเงินชดเชย เพราะเม็ดเงินจำนวนดังกล่าว สามารถพลิกฐานะจากการขาดทุนให้ เอ็มคอต กลับมามีกำไรได้ทันที” นายสุวิทย์ กล่าว

Advertisement

ขณะเดียวกัน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าตัวเลขที่นำไปพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นตัวเลขในปี 2562 ซึ่งมีผลประกอบการขาดทุนมาก เพราะหักค่าเสื่อมจากใบอนุญาตประมูลช่องดิจิทัลทีวี แต่ตัวเลขการขาดทุนปี 2563 มีเพียง 457 ล้าน ซึ่งหากเทียบกับสินทรัพย์และที่ดิน เอ็มคอตมียังไม่ได้อยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

ขณะที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้อยู่ในสภาวะการขาดทุน แต่รัฐบาล หรือ สคร.ยังไม่เคยอุดหนุน หรือช่วยเหลือใดๆ ทั้งที่การขาดทุนล้วนมาจากความผิดพลาดในเชิงนโยบายตั้งแต่การเพิ่มช่องดิจิทัลมากเกินจริงของ กสทช. หรือการให้ เอ็มคอต ต้องถูกปฏิบัติหรือไปประมูลช่องแข่งกับเอกชน ทั้งที่โครงสร้างผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจฯ เอ็มคอต มีความเป็นรัฐวิสาหกิจชัดเจน ซึ่งพนักงานก็ได้เคลื่อนไหว มาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนการประมูลดิจิทัลทีวี

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากโครงสร้างรายได้ ที่เดิม เอ็มคอต มีรายได้จากสัมปทาน รัฐอุดหนุน และการประกอบธุรกิจ แต่ปัจจุบัน เอ็มคอต ไม่ได้มีรายได้จากสัมปทาน รัฐเองก็ไม่เคยให้เงินอุดหนุน ดังนั้นรายได้จากการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีความชัดเจนว่ารายได้จากการโฆษณา ลดลงทั้งอุตสาหกรรม จนทำให้สื่อส่วนใหญ่อยู่ในภาวะขาดทุน

Advertisement

รวมทั้งพนักงานได้ตระหนักมาโดยตลอดถึงสภาวะการแข่งขัน และอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป และให้ความร่วมมือ ในการประหยัดตัดลดมาโดยตลอด มีตัวเลขชัดเจนใน 5 ปีที่ผ่านมา ตามตัวเลขที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าผลประกอบการ เอ็มคอต ดีขึ้น เพราะลดค่าใช้จ่าย และล่าสุดยังดำเนินโครงการร่วมใจจากมีพนักงานออกไปแล้วถึง 325 คน

โดยสหภาพแรงงานฯ ขอยืนยันว่า ปัจจุบัน เอ็มคอต ยังอยู่ในภาวะที่ดำเนินธุรกิจได้ มีความน่าเชื่อถือ มีสินทรัพย์ พนักงานเองก็มีประสิทธิภาพ และเป็นพนักงานที่เคยสร้างกำไรให้ เอ็มคอต แต่ปัญหาอยู่ที่นโยบาย และประสิทธิภาพในการบริหารงาน

สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า หากดำเนินการลดสัดส่วนการถือหุ้น จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่า กล่าวคือ ในข้อเท็จจริง เอ็มคอต เป็นสถานีโทรทัศน์ของรัฐ เพียงช่องเดียวที่ยังมีเรตติ้งติด 1 ใน 10 สถานี และที่ผ่านมารัฐบาลใช้เป็นช่องทางสื่อสาร ถึงประชาชนในกรณีการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ทั้งการเป็นทีมผลิตเนื้อหา หรือให้สถานีผลิตและออกอากาศรายการพิเศษต่างๆ หากเปลี่ยนโครงสร้าง ย่อมกระทบต่อรัฐบาล และพันธกิจของเอ็มคอต

“การลดสัดส่วนการถือหุ้นในขณะนี้ ย่อมถูกมองว่า ข้ามขั้นตอน และหากเทียบตัวเลขหนี้สิน 457 ล้านบาท กับทรัพย์สินหลายพันล้านบาท และศักยภาพ ความน่าเชื่อถือ อาจทำให้เปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นรายใหม่ เข้ามาครอบครอง และตัดสินใจขายทรัพย์สินของเอ็มคอต ซึ่งเป็นของรัฐได้” นายสุวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image