“ทีดีอาร์ไอ”ชี้รัฐเทงบลงทุนน้อยกว่าเงินกู้ ส่อสัญญาณไม่ดี เสี่ยงล้มกันทั้งประเทศ

นายนณริฏ พิศลยบุตร

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้รัฐเทงบลงทุนน้อยกว่าเงินกู้ ส่อสัญญาณไม่ดี เสี่ยงล้มกันทั้งประเทศ

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ที่มีงบลงทุนต่ำกว่าเงินกู้ชดเชยงบประมาณแบบขาดดุล ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้แต่ละหน่วยงานปรับงบประมาณตามวงเงินเดิม ก่อนส่งสำนักงบประมาณ เพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม.วันที่ 23 มีนาคม พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งนั้น เห็นว่าไม่ปกติ การจัดสรรงบประมาณเปรียบเหมือนกับการจัดการ การใช้จ่ายในครัวเรือน โดยมีเกณฑ์และข้อกำหนดทางการคลัง เป็นตัวกำหนดว่า ควรทำ หรือวางแผนอย่างไร ในส่วนฐานะทางการคลังของภาครัฐ ก็สะท้อนสถานะทางการเงินของภาครัฐ เหมือนกับครอบครัวว่าจะไม่พังหรือไม่ ส่วนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยทางการเงินการคลัง มีเกณฑ์กำหนดอยู่ว่า จำนวนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ต้องไม่เกิน 60% หมายความว่าถ้าระบบเศรษฐกิจทั้งหมด สร้างรายได้ขึ้นมาได้เท่าไหร่ ภาครัฐก็ไม่ควรมีมูลหนี้เกินนั้น เพราะถ้าเกินไปจะมีความเสี่ยง ใช้คืนหนี้ลำบาก มีหนี้รัดตัวติดอยู่ในกับดักความยากจน เพราะฉะนั้นจึงตั้งเกณฑ์นี้ไว้ ซึ่งขณะนี้หนี้ยังไม่เกินเกณฑ์

นายนณริฏกล่าวว่า ส่วนเกณฑ์อีกตัวคือเรื่องของการลงทุนกับการใช้จ่าย โดยพื้นฐานแล้วเหมือนกับครัวเรือน จะพูดเสมอว่ารัฐบาลก็เหมือนกับครัวเรือน ต้องมีรายจ่ายอยู่สองประเภทสำคัญ คือ การบริโภค ถ้าเป็นคนทั่วไป คือ การไปหาความสุข ไปเที่ยว ซื้ออาหารกิน อีกส่วนคือ เรื่องของการลงทุน ที่แตกต่างจากการบริโภค คือ เมื่อมีการลงทุน ก็คาดหวังว่าจะมีผลตอบแทนกลับมา เหมือนกับคนทั่วไปที่ได้รับเงินเดือนมา ต้องแบ่งส่วนหนึ่งไว้บริโภค และอีกส่วนไว้ลงทุน

“แต่รูปแบบการลงทุนของภาครัฐ จะแตกต่างจากครัวเรือน ถ้าเป็นคนทั่วไปอาจคิดถึงการเล่นหุ้น การสร้างโรงงาน การเปิดร้านขายของ แต่ภาครัฐคงจะทำเช่นนั้นไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำรายได้ให้กับภาครัฐ เพราะหลังจากสร้างโครงสร้างพื้นฐานเสร็จ เช่น ทางด่วน ก็มีการเก็บค่าผ่านทาง หรือถ้าสร้างถนน เมื่อประชาชนเดินทางได้สะดวก มันจะเกิดการลงทุนต่างๆ ท้ายที่สุด คนจะจ่ายภาษีมากขึ้นในอนาคต” นายนณริฏกล่าว และว่า การลงทุนจึงเป็นหัวใจสำคัญ เป็นสาเหตุให้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการลงทุนอย่างน้อย 20% คือไม่ว่าภาครัฐจะมีเงินรายได้เท่าไหร่ก็ตาม อย่างน้อยขอ 20% ใช้ในการลงทุน เพื่อให้มีเงินกลับมาเข้ารัฐ ไม่ใช้นำไปใช้บริโภคจนหมด ให้เงินมันสูญเปล่าหายไป

นายนณริฏกล่าวว่า ส่วนของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2565 เกณฑ์การลงทุนไม่น้อยกว่า 20% ของงบประมาณรวมนั้นผ่านเกณฑ์ แต่ที่ไม่ผ่านคือการก่อหนี้ การที่จะใช้จ่ายได้ จะต้องมาดูรายได้ของรัฐบาล ว่ามีรายได้เท่าไหร่ ต้องมาคิดว่าควรต้องจ่ายเท่าไร ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาครัฐ มีรายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย ถ้าจำไม่ผิดปี 2564 รัฐบาลมีรายได้เพียง 2.4 ล้านล้านบาท เมื่อดูแลข้าราชการและระบบศาลปกครองต่างๆ รัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เมื่อเอารายจ่ายรวมกับส่วนที่ต้องลงทุนอีก 20% แล้ว มันเกินรายได้ จึงทำให้ภาครัฐต้องกู้เงินมา เกณฑ์ของวินัยทางการเงินการคลัง จึงกำหนดว่า เงินกู้ไม่ควรมากกว่าเงินลงทุน เมื่อกู้เงินมาจำนวนมาก แล้วนำเงินกู้ส่วนนี้ไปลงทุน ก็ยังเข้าท่าแต่ถ้ามีการกู้มากกว่าการลงทุน แปลว่ากู้มาเพื่อการบริโภค เป็นสิ่งที่ไม่ดี เกณฑ์วินัยการเงินการคลัง คือ อย่างน้อยควรนำเงินกู้ไปลงทุน เกิดผลงอกเงยออกมา แต่ไม่ใช่กู้มาเพื่อการบริโภคและเงินก็หมดไป จะทำให้มีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าการเงินรัฐบาลล้ม หมายความว่าเราล้มกันทั้งประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image