‘ศุภชัย’ชี้ปรับฮวงจุ้ย ไทยเป็นศูนย์กลางดึงดูดลงทุน สร้างแลนด์บริดจ์อีอีซี-เอสอีซี สู่ฮับโลจิสติกส์โลก

‘ศุภชัย’ชี้ปรับฮวงจุ้ย ไทยเป็นศูนย์กลางดึงดูดลงทุน สร้างแลนด์บริดจ์อีอีซี-เอสอีซี สู่ฮับโลจิสติกส์โลก

หมายเหตุเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินีโฮเทล หนังสือพิมพ์มติชน จัดสัมมนา หัวข้อ “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ให้เกียรติร่วมกล่าวเสวนา ในหัวข้อ “ประเทศไทยจะไปต่อได้อย่างไร” โดยกล่าวว่า

สิ่งที่เราเจอในเรื่องโควิด เหมือนเป็นอุบัติเหตุที่ทั่วทั้งโลกเจอกันหมด ไทยก็หนีไม่พ้น และต้องเดินต่อไป จึงมีคำถามว่าไทยจะแข่งขันอย่างไรเพื่อให้เดินได้ต่อไป ดังนั้น ต้องไม่ลืมว่าศักยภาพในการแข่งขันต้องมาจากพื้นฐาน ถ้าไทยยังมีประชากรที่ยังอยู่ภายใต้เส้นความยากจนในแง่รายได้ ก็คงยากยิ่งในการเดินหน้าต่อ เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำสูง ในพื้นที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง เพียงแค่ 4-5 จังหวัด สร้างรายได้เป็น 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประชากรในจังหวัดดังกล่าวมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 4 หมื่นเหรียญสหรัฐ เทียบเท่ารายได้ของประชาชนในประเทศพัฒนาแล้ว ในขณะที่ภาคเหนือ อีสาน ใต้ รายได้ของประชากรอยู่ระดับเส้นความยากจน เพราะฉะนั้นต้องมาคิดว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะจัดการกับความยากจนได้แบบบูรณการอย่างไร

Advertisement

ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ประเทศอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาจัดการกับปัญหานี้ได้ เช่น กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงจีนที่กำลังจะทำสำเร็จ สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้ระบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ที่เป็นระบบบริหารจัดการแบบภาคเอกชน แต่สิ่งที่เราพูดถึงคือเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ทำเป็นธุรกิจครัวเรือน ธุรกิจสามี-ภรรยา เรียกว่า หน้าดำ มือสาก เพราะใช้แรงงาน ขาดเรื่องการบริหารจัดการ ขาดเทคโนโลยี ขาดเรื่องการตลาด ขาดการพัฒนาในการเพิ่มมูลค่าสินค้า ขาดนวัตกรรม และขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม

ประเทศไทยมีระบบสหกรณ์ก็จริง แต่เป็นการบริหารแบบราชการ เพราะทุนมาจากราชการเป็นหลัก จึงไม่ได้เกิดความกระตือรือร้นในการแข่งขัน ความเป็นองค์กรหรือเอกชนก็ไม่เกิดในสหกรณ์ ถ้าทำได้จริงจะเป็นเรื่องใหญ่มาก ในส่วนที่กล่าวว่าจะปฏิรูปเกษตรกรรม เกิดความเป็นเอกชน เกษตรกรกลายเป็นเจ้าของกิจการ สมาชิก เป็นเจ้าของ บริหารจัดการนวัตกรรม กระโดดจากเกษตรกร 1.0 เป็น 4.0 เลย เราต้องตั้งสหกรณ์ใหม่ หรือเรียกว่า “service farming” ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานส่วนนี้สำคัญ สิ่งที่ตามมา คือการลงทุน แล้วจะลงทุนอะไรต่อ ก็คือการบริหารจัดการน้ำ

ถ้าสามารถบริหารจัดการน้ำได้ ผลผลิตต่อไร่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล อาจจะสิบเท่าได้ ในฝ่ายบริหารนำเอามาพัฒนาเทคโนโลยีและทำให้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรสามารถทำสินค้าครัวเรือนเสริมรายได้ เป็นเจ้าของที่ดิน ในขณะสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระดับชุมชน หรือเรียกว่า “township” หรือ สร้างเมืองในระดับชุมชน การสร้างเมือง หรือตลาดที่ดีในระดับชุมชนจะเป็นการการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เกิดอีก 10 อุตสาหกรรม มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนไทยจะขยับขึ้น มีความมั่นคงในชีวิต ไม่เป็นหนี้นอกระบบ ลูกหลานได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดี จนถึงมหาวิทยาลัย

Advertisement

ถ้าความเหลื่อมล้ำไม่หายไป รวมทั้งการเมืองของเราไม่นิ่ง มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองตลอดเวลา จะทำให้การบริหารงานราชการพัฒนาได้ล่าช้า การตัดสินใจจะช้า ทำให้การแข่งขันโดยภาพรวมของไทยช้าตามไปด้วย และทำให้การแข่งขันยากขึ้น ถ้าประเทศอื่นตัดสินใจเร็วกว่าเรา เราก็จะแข่งยาก และจะเสียโอกาส คิดว่าจึงต้องพูดถึงตัวพื้นฐานก่อน และสิ่งที่เป็นพื้นฐานคือความสำคัญของประเทศ

ในขณะเดียวกันถ้าเรามองถึงอนาคต คือ ไทยต้องเปลี่ยนฮวงจุ้ยประเทศใหม่ การที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) นั้นยังไม่ใช่การเปลี่ยนฮวงจุ้ย แต่มันคือการดึงดูดการลงทุน ทรัพยากรมนุษย์ในระดับโลก มายังประเทศไทย มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ มาช่วยสร้างประสิทธิผลมวลรวม นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนา เราต้องเป็นที่ดึงดูดการลงทุนก่อน โดยไทยต้องกลายเป็นศูนย์กลางอะไรสักอย่าง ถ้าทั่วโลกยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางแล้ว เราจะดึงดูดการลงทุนได้ นำมาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุด ดึงทรัพยากรมนุษย์ และทุนมาไทย

ซึ่งเราเป็นศูนย์กลางอยู่แล้วในทางภูมิศาสตร์ มีอีอีซี และยังจะมีการต่อยอดเรื่อง 1.0 แต่ยังไม่พอเพราะประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีเขตเศรษฐกิจพิเศษเหมือนกัน ฉะนั้น เราต้องหาจุดเด่นอย่างอื่นที่คนอื่นทำไม่ได้ จึงเสริมว่าเมื่อเรามีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แล้ว เราก็มีเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) การสร้างแลนด์บริดจ์ แค่เรื่องการขนส่งสินค้า จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปมหาสมุทรอินเดีย ลองคิดดูว่าเรามีทั้งอีอีซี และเอสอีซี ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับโลก ถามว่าลงทุนไปคุ้มทุนไหม เพราะมีช่องทางสุมาตราอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันเบียดเสียด ลองคิดว่าประหยัดได้ 0 วันจากเดิมที่ไม่อยู่ในทางเลือก เราก็จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ดี กลายเป็นโลจิสติกส์ฮับ ศูนย์กลางการขนส่ง ต่างชาติหันมาลงทุน

แล้วก็เชื่อมไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือใหม่ เอ็นอีซี เชื่อมไปทางประเทศลาวและประเทศจีน ดังนั้น ไทยจะเชื่อมกับอินเดียและจีน ที่เป็นเศรษฐกิจอันดับ 2 และ 4 ของโลก และมีโอกาสขึ้นไปเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในอีก 10 ปีข้างหน้า

เมื่อเปลี่ยนฮวงจุ้ยหรือปรับภูมิยุทธศาสตร์ของเรา เสริมสร้างสิ่งที่เราทำได้ แต่ทุกอย่างคือการที่เราไปเปลี่ยนระบบการขนส่งของโลก ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ มันมีการเมืองโลก เราต้องสร้างสมดุลให้ดี ไม่ใช่เอียงไปทางจีน หรือทางสหรัฐอเมริกามากไป เพราะอาจจะกลายเป็นมีปัญหาอีก

พอเราเป็นศูนย์กลางแล้ว ก็สามารถต่อยอดได้อีก กลายเป็นศูนย์กลางการค้าโลก และกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินโลกต่อไป และจะตามมาเรื่อยๆ เกิดจากเราปรับระบบนิเวศของประเทศเราเอง แต่เราต้องปรับแก้ไขระบบนิเวศทางกฎหมายเศรษฐกิจและด้านภาษี ในแข่งขันได้ด้วย ถ้าทำแล้ว การตัดสินใจที่จะเข้าประเทศจะมหาศาล ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน และขยายโครงสร้างพื้นฐาน แก้ไขเรื่องความยากจนด้วย นอกเหนือจาการปฏิรูปเรื่องเกษตร เข้ามาเสริมสร้างให้ไทยเป็นศูนย์กลาง และก็เป็นประโยชน์ช่วยประเทศใกล้เคียงพัฒนาพร้อมกับเรา พัฒนาในระบบภูมิภาค เป็นจุดที่จะเปลี่ยนประเทศไทย

สำหรับโมเดลที่จะให้ประเทศเดินหน้าไปต่อได้ ประกอบด้วยอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ต้องทำให้สุขภาพดี อุตสาหกรรมที่เปรียบอยู่แล้ว ต้องส่งเสริม ต้องขยายให้เกิดการลงทุน เหมือนเราอยากออกจากหล่ม ต้องเอาช้างหลายๆ ตัวมาฉุด เป็นจุดที่สำคัญมากว่าต้องกลับมาแข็งแรงและแข่งขันให้ได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ไทยพึ่งพามาก คิดเป็น 15-16% ของจีดีพี ต้องถามว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพร้อมแค่ไหน สมมุติว่าไทยมีวัคซีนส่วนสำรองเหลือ ทำให้เกิดการท่องเที่ยวฉีดวัคซีนได้ไหม ดึงต่างชาติมาพัก 10 วัน ฉีดวัคซีนด้วย เที่ยวด้วย อีกเรื่องที่พูดถึงคือการท่องเที่ยวเพื่อหาซื้อบ้าน เพราะไทยเป็น 1 ใน 3 ของประเทศท่องเที่ยวโลก ถ้าให้ลงทุนซื้อบ้าน 1 หลัง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ สมมุติมาซื้อกัน 1 ล้านหลัง ก็จะได้ 1 ล้านล้านเหรียญ ประมาณ 30 ล้านล้านบาท เท่ากับจีดีพีประเทศ 2 ปี โดยเกี่ยวพันทั้งการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ และสร้างงานเพิ่ม รวมถึงเสียภาษีให้ไทย

ถามว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีการเตรียมพร้อมอย่างไร กลับมาที่ภาคการเกษตร ไม่มีประเทศไทยไหนในโลกที่น้ำท่วมและภัยแล้ง มีเพียงไทย ซึ่งปีนี้จะแล้งหนักเพราะจีนจะกักน้ำไว้ ต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี ซีพีมีโมเดลที่กำลังทดลองทำ

ส่วนการค้าระดับโลกของไทยจะเป็นยังไงต่อไป สิ่งที่เป็นเทรนด์สำคัญของโลกคืออะไรในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น รถอีวี ทำไมถึงไม่มีใครที่ประกาศจะเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เพราะถ้าประกาศแล้ว สิ่งที่มีอยู่จะถือว่าขาดทุนทันที เพราะระเบียบราชการยังไม่ได้แก้ไข ดังนั้นส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะสร้างใหม่ในประเทศอื่นมากกว่า เพื่อไม่ขาดทุน

อีกอุตสาหกรรม คือเรืองการสื่อสารออนไลน์ ปัจจุบัน การใช้ไลน์ กูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ก ของคนไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ตั้งเซิร์ฟเวอร์และวิเคราะห์ที่สิงคโปร์ จึงเกิดแนวคิดเก็บภาษีดิจิทัลมีเดีย มีคนเคยบอกว่าข้อมูลคนไทยต้องอยูในเมืองไทย ก็ต้องตั้งศูนย์ในเมืองไทยดีกว่าหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของการพัฒนาทักษะของประชากร โดยระบบการศึกษาใช้เงินงบประมาณประเทศถึง 20% หรือ 6-7 แสนล้าน แต่เด็กในพื้นที่ต่างจังหวัดกลับไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้เพื่อการศึกษา ประมาณ 90-100% ควรเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เด็กเข้าถึงคอมพิวเตอร์ เปลี่ยนบทบาทผู้ใหญ่และครูเป็นผู้สนับสนุน ไม่เป็นการสอนแบบทางเดียว เป็นการตั้งคำถาม หาคำตอบลงมือทำ เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนสังคมให้ดีกว่าเดิม

สุดท้าย สิ่งที่อยากฝาก คือ เรื่องของจิตใจที่ความกล้าหาญ และความสามัคคี ไม่ว่าคนรุ่นไหนถ้าประเทศไทยยืนอยู่บนความสามัคคี รวมกับความกล้าที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมีเหตุผล และสร้างสรรค์ ส่วนนี้จะเป็นจิตวิญญาณ (สปิริต) ที่สำคัญมากๆ เช่น เกาหลีใต้ที่ทำให้ประเทศเจริญ สินค้ากลายเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ความกลัวไม่เคยทำให้เราก้าวหน้า แต่ทำให้เราปลอดภัย ดังนั้น ต้องยอมที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าเสี่ยงในสิ่งที่สามารถทำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image