ปรากฏการณ์ “ผู้นำ”

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วย การติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

การเปลี่ยนแปลงผู้นำ การเปลี่ยนผ่านสำคัญ ทั้งมาจากนโยบาย หรือปรากฏการณ์ที่ดูธรรมดา จะนำทางไปค้นหาเรื่องราวบุคคลสำคัญ เพื่อติดตาม ตั้งคำถาม ทำความเข้าใจ ต่อเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีความหมาย

ในฐานะเป็น “ผู้ติดตาม” และได้นำเสนอโปรไฟล์บุคคลในสังคมธุรกิจมากที่สุดคนหนึ่ง มีข้อมูลบุคคลมากพอจะเป็นฐานข้อมูล อ้างอิง เพื่อประกอบ ปรับปรุง และเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ใหม่ๆ บุคคลหน้าใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันเข้าด้วยกัน

ดัง “ภาพตัวอย่าง” สะท้อนมาจากความเป็นไป อ้างถึงในตอนท้าย (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบเหตุการณ์ที่น่าสนใจ)

Advertisement

เทวินทร์ วงศ์วานิช

เทวินทร์ วงศ์วานิช

เขาเป็นผู้นำ ปตท. คนเดียว เคยเสนอตัวชิงตำแหน่งมาก่อนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และพลาดโอกาสในครั้งแรก

เทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นวิศวกรเช่นเดียวกับผู้นำคนก่อนๆ ทั้งหมด แต่เขาเป็นเพียงคนเดียวที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Up Stream) ทำงานกับบริษัทต่างชาติ (Chevron ตั้งแต่ยังใช้ชื่อ Union Oil) บุกเบิกการสำรวจและพัฒนาก๊าซธรรมชาติครั้งแรกในอ่าวไทย

Advertisement

เขาตัดสินใจลาออกมาอยู่ในช่วงบุกเบิก ปตท.สผ. กิจการต้นน้ำของ ปตท. ซึ่งต่อมาได้เป็น Benchmark ในหลายเรื่อง

จากนั้นมีบทบาทการบริหารภาพกว้าง โดยเฉพาะข้ามไลน์มาทำงานด้านการเงินในตำแหน่ง CFO เชื่อกันว่าเขาคงมีบทบาทสำคัญในช่วง ปตท. ดำเนินยุทธศาสตร์ขยายกิจการสู่ปลายน้ำ (Down Stream) อย่างครึกโครม ด้วยกลยุทธ์ซื้อและควบรวมกิจการ (Merger &Acquisition)

แต่ขณะนั้น ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ได้รับเลือกเป็นผู้นำ ถือเป็นการพลิกความคาดหมายของผู้ในวงการอยู่บ้าง

ผมเคยนำเสนอข้อเขียนเกี่ยวกับ ปตท. (ประมาณ 10 กว่าตอน) กล่าวไว้ว่า “อาจเป็นไปได้ว่าผู้คนในวงการบางส่วน ยังไม่รู้จักภูมิหลังของผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนใหม่ (ตอนนั้นคือ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร) ดีพอ”

“หากว่ากันตามยุทธศาสตร์ ปตท. ให้ความสำคัญภาพใหญ่ต่อเนื่อง จากต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยเป็นที่เข้าใจกันดีว่า ธุรกิจปลายน้ำเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โครงสร้างทางธุรกิจมีความซับซ้อน ขณะเดียวกันเชื่อกันว่าเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ ผมค่อนข้างเชื่อว่า ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เข้ามาอยู่ในตำแหน่งอย่างถูกที่ ถูกจังหวะเวลา…ที่แท้ เขาเป็นผลผลิตจากปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่ามีประสบการณ์กว้างและลึกมากคนหนึ่ง จากยุคร่างพิมพ์เขียว มาถึงยุคหลอมรวมครั้งใหญ่ในประเทศ และกำลังขยายตัวก้าวสู่ระดับภูมิภาค”

ในช่วง 4 ปี ของ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ดูเหมือน ปตท. ดำเนินแผนการหลากหลาย ตามแนวทางที่กล่าวไว้ ขณะเดียวกัน ต้องเสียเวลาไปไม่น้อย กับแรงเสียดทานโดยเฉพาะจากเอ็นจีโอ

ในยุค เทวินทร์ วงศ์วานิช คงน่าติดตามไม่แพ้กัน ที่สำคัญควรต้องศึกษาเรื่องราวของเขาให้มากกว่านี้

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปาฐกถา

เขาเข้ามาเป็นผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร ซึ่งดูเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก จะยังไม่กล่าวถึงแนวทางและมาตรการที่ดำเนินไป หากมุ่งไปที่ประเด็นตัวบุคคล

สมคิด จาตุศริพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ มาพร้อมกับทีมงานหน้าใหม่ในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) และ ดร.อุตตม สาวนายน (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ว่าไปแล้วนับว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ แต่ก็มีภูมิหลังร่วมกันอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในฐานะมีประสบการณ์ที่ธนาคารหลวงไทย ในยุค สม จาตุศรีพิทักษ์ (พี่ชายสมคิด) และต่อเนื่อง

ที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง การปรากฏตัวหลายต่อหลายครั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มักแวดล้อมด้วยผู้นำกลุ่มธุรกิจใหญ่ โดยเฉพาะการปรากฏตัวผู้บริหารรุ่นใหม่ อาทิ ทศ จิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล ฐาปน สิริวัฒนภักดี แห่งหล่มทีซีซี ศุภชัย เจียวรนนท์ แห่งซีพี และ เวทิต โชควัฒนา แห่งสหพัฒน์

จะเป็น “สายสัมพันธ์ใหม่” หรือไม่อย่างไร คงต้องว่ากันอีกครั้ง

กรณีมาแทน ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองเช่นกัน ม.ร.ว.ปริดิยาธร เทวกุล นับเป็นบุคคลสำคัญ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ในช่วงรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ตั้งแต่ยุค อานันท์ ปันยารชุน

อานันท์ ปันยารชุน

อานันท์ ปันยารชุน

เท่าที่ทราบ งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่องมาแล้วอย่างน้อย 10 ปี เป็นงานนำเสนอบทความหรืองานวิจัยของทีมวิชาการแบงก์ชาติ หรือแวดวงทางการเงิน ที่ผ่านๆ มาไม่เคยเชิญใครมาปาฐกถาแบบอานันท์มาก่อน

ส่วนปาฐกถาเรื่อง “สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย-Democratic Governance – A New Normal to Strive For” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558 มีสาระที่น่าสนใจ การวิพากษ์ทักษิโณมิกส์คราวนี้ มุ่งประเด็นที่แนวนโยบายรัฐวิสาหกิจ (จะขอขยายความในโอกาสต่อๆ ไป) ซึ่งเป็นเรื่องเชื่อมโยงกันอย่างน่าสนใจ

หลังจากมี คสช. ไม่นาน คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจได้จัดตั้งขึ้น (26 มิถุนายน 2557) โดยมีบุคคลที่สนใจ (นอกจากทหาร)เป็นกรรมการ โดยเฉพาะ บัณฑูร ล่ำซำ บรรยง พงษ์พานิช ประสาร ไตรรัตน์วรกุล รพี สุจริตกุล และ วิรไท สันติประภพ

เท่าที่เป็นไปได้ อานันท์ ปันยารชุน ส่งสัญญาณสนับสนุนให้กำลังใจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ จะด้วยเหตุผลใด คงจะต้องปุชฉา วิสัชนากันต่อไป

วิรไท สันติประภพ

วิรไท สันติประภพ

เขาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้มีอายุ และประสบการณ์น้อยที่สุด มีที่มาแตกต่างออกไปมากทีเดียว หลังจากธนาคารชาติได้ผ่านยุคสำคัญๆ มาหลายยุค โดยเฉพาะยุค “ลูกหม้อ” ที่สร้างประวัติการณ์ทั้งสองด้าน

กรณีการปรากฏตัวผู้บริหารระดับผู้อำนายการในฐานะผู้มีชื่อเสียง โดยเฉพาะช่วงปี 2525 ปีที่ ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ และ โอฬาร ไชยประวัติ ลาออกจากผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ภาพความโดดเด่นนั้น ส่งต่อเนื่องมายัง เอกกมล คีรีวัฒน์ ไชยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ฯ จนมาถึงในยุคผู้ว่าการมาจาก “คนใน” ช่วงปี 2533-2541

จากนี้ไปควรจะเรียกว่ายุคอะไร

ศุภชัย เจียรวนนท์-พิชญ์ โพธารามิก

ธุรกิจสื่อสารกำลังก้าวเข้าสู่ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากๆ

ศุภชัย เจียรวนนท์

ดูเหมือน ศุภชัย เจียรวนนท์ ได้เดินตามรอยบิดา (ธนินท์ เจียรวนนท์) ในฐานะผู้นำธุรกิจใหญ่ สร้างชื่อเสียงค่อนข้างรวดเร็ว หลังจากบริหารธุรกิจสื่อสารของซีพี–กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ประมาณ 15 ปี เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่า กลุ่มทรูฯ ภายใต้ผู้นำที่มีโปรไฟล์แบบฉบับ กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ดูมีโอกาสมากขึ้นอย่างไร

พิชญ์ โพธารามิก

ส่วน พิชญ์ โพธารามิก หลังจากเข้ามากอบกู้กิจการจากที่บิดา (อดิศัย โพธารามิก) ทำไว้ เขาก้าวไปอีกขั้น สู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายอย่างเต็มตัว ในฐานะผู้นำรุ่นใหม่กำลังเดินแผนเชิงรุกอย่างน่าตื่นเต้น ก่อนจะไปสู่บทสรุปว่า จะเป็นกรณี “ผู้มาทีหลัง” เช่นบิดาหรือไม่

เรื่องราวของเขาเอง คงน่าสนใจไม่น้อย

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

รุ่งโรจน์ ยืน

ผู้จัดการใหญ่คนใหม่เอสซีจีได้รับความสนใจเสมอ มาตั้งแต่ยุคแรกๆ บุญมา วงศ์สวรรค์-สมหมาย ฮุนตระกูล ต่อเนื่องมายุค จรัส ชูโต-พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา-ชุมพล ณ ลำเลียง จนถึง กานต์ ตระกูลฮุน แต่ละยุคมีเนวทางคัดสรรผู้นำแตกต่างกันออกไปตามบริบทสังคมธุรกิจไทย

เชื่อว่ากรณี กานต์ ตระกูลฮุน กับ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส คงจะมีเรื่องราวที่แตกต่างกันบ้างไม่มากก็น้อย

ชิ้นส่วนเพียงแค่นี้ ก็จะสามารถเชื่อมโยงไปถึงผู้นำคนต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อีกมากมาย

เหตุการณ์ที่น่าสนใจ

1 กรกฎาคม 2558 — เทวินทร์ วงศ์วานิช ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.

19 สิงหาคม 2558 — ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

17 กันยายน 2558 — อานันท์ ปันยารชุน ปาฐกถาเรื่อง “สู่บริบทใหม่ของประเทศด้วยธรรมาภิบาลในระบอบประชาธิปไตย-Democratic Governance – A New Normal to Strive For” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558

1 ตุลาคม2558 — วิรไท สันติประภพ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

12 พฤศจิกายน 2558 กับ 19 ธันวาคม 2558 — การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (หรือที่เรียกว่า 4G) 2 ครั้ง ปรากฏว่า กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ภายใต้การนำของ ศุภชัย เจียรวนนท์ สามารถคว้าใบอนุญาตทั้งสองครั้ง ทั้งย่านความถี่ 900 และ 1800 MHz และ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ ภายใต้การนำของ พิชญ์ โพธารามิก เป็นเพียงรายเดียวที่เข้ามาใหม่

1 มกราคม 2559 — รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image