ผู้เขียน | พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ อดีตผู้สมัครเป็น กสทช. ด้านกฎหมาย |
---|
‘มโนสำนึก..และความรับผิดชอบ..ของการสรรหา กสทช.’
ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ ประกอบมาตรา ๒๗๔ ได้กำหนดให้รัฐมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่ และสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม อันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่ง ทำหน้าที่ดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มี กสทช.จำนวนเจ็ดคน ประกอบด้วยผู้ที่มีผลงานหรือมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ กระบวนการได้มาซึ่ง กสทช. มีขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔ ถึงมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม การที่มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มี “คณะกรรมการสรรหา กสทช.” จำนวนเจ็ดคน มาจากผู้แทนหลากหลายองค์กร ก็เพื่อให้มีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่เป็นอิสระ และเป็นกลางทางการเมือง เข้ามาร่วมทำหน้าที่ตรวจสอบกลั่นกรองให้ได้บุคคลที่เหมาะสม มาดำรงตำแหน่ง กสทช. ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
คณะกรรมการสรรหา กสทช.จะมีขึ้นเฉพาะเมื่อมีเหตุที่ต้องทำหน้าที่คัดเลือก ผู้สมควรได้รับเลือกโดยวิธีการสรรหาในรอบแรก เพื่อเสนอต่อวุฒิสภาพิจารณาลงมติคัดเลือกในรอบที่สอง คณะกรรมการสรรหา กสทช. มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการสรรหาเพื่อคัดเลือก กสทช. โดยตรงแต่อย่างใด เมื่อการดำเนินการสรรหาเสร็จสิ้นแล้ว ภารกิจของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ในครั้งนั้นก็สิ้นสุดลงตามไปด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น กสทช.ของคณะกรรมการสรรหา กสทช.ทั้งในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๓ นั้น ปรากฏว่าการสรรหาดังกล่าวล้วนมีข้อครหาเกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติ และการมีลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการสรรหา กสทช. มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกล่าวคือ ในเบื้องต้นมิได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครให้เป็นไปตามมาตร ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติมเสียก่อน อันถือเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาที่ได้นำมาพิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่สมัครทุกคนโดยอาศัยหลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย และไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหา กสทช.กำหนดขึ้นเอง หรือใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจแต่อย่างใด หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหา กสทช. คือต้องรับสมัครและคัดเลือกผู้สมัครจากบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเท่านั้น มิใช่ปล่อยให้คนที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม เข้าไปสู่กระบวนการสรรหาโดยมิได้มีการตรวจสอบกลั่นกรองก่อนแต่อย่างใด
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการดำเนินกระบวนการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น กสทช.จากเจตนารมณ์ที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ย่อมจะแปลความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากหมายความว่า การตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร เป็นหน้าที่โดยตรงของคณะกรรมการสรรหา กสทช. ที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบกลั่นกรอง การจะโยนความรับผิดชอบไปให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาในการเป็นผู้ตรวจสอบกลั่นกรองนั้น ย่อมไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เนื่องจากตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดว่า ให้วุฒิสภาเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อที่เลขาธิการวุฒิสภาเสนอโดยให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติอื่นใด กำหนดให้วุฒิสภามีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบประวัติบุคคลผู้สมัครแต่ประการใด การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช.ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว ย่อมถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามรูปแบบขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ก็คือเป็นการลัดขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติแล้วไม่ปฏิบัติ จึงส่งผลทำให้กระบวนการสรรหาในสองครั้งที่ผ่านมาในปี ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๓ ไม่สมบูรณ์ต้องเสียหายและสูญเปล่าทั้งโอกาสในทางธุรกิจและงบประมาณแผ่นดิน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ล้วนเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงและมีเกรียติสูง ซึ่งบุคคลทั่วไปได้ให้ความเชื่อถือและเชื่อมั่นว่าจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรมสูงกว่าปัจเจกบุคคล
ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการในการคัดกรองบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น กสทช. ให้ได้คนดี คนเก่ง คนที่มีประวัติที่ใสสะอาด เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสาธารณชน มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมที่จะทำประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ด้วยเหตุนี้ กระผมจึงขออนุญาตหารือและเสนอแนะมายังท่านผู้ที่เกี่ยวข้องได้โปรดกรุณาให้คณะกรรมการสรรหา กสทช. และเลขาธิการวุฒิสภา ได้เป็นผู้ดําเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น กสทช. ตามที่กฎหมายกําหนด โดยเทียบเคียงกับการสรรหาองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กกต. ปปช. หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น