‘สุพันธุ์’รอคำตอบรัฐซื้อวัคซีนฉีดเอง แนะใช้แพลตฟอร์มลงทะเบียนสมัครใจฉีด

‘สุพันธุ์’รอคำตอบรัฐซื้อวัคซีนฉีดเอง แนะใช้แพลตฟอร์มลงทะเบียนสมัครใจฉีด ถกกกร.ต้นเมษายนถกเป้าจีดีพีรัฐ4%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รวม 3 ยี่ห้อ ประกอบด้วย ซิโนแวค แอตตร้าเซนเนก้า และจอร์นสันแอนด์จอร์นสัน ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ไทยมีจำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้น หลากหลายแบรนด์ น่าจะทำให้การกระจายวัคซีนเพิ่มขึ้นไปด้วย แต่สิ่งที่เอกชนต้องจับตาหลังจากนี้คือการเพิ่มจำนวนยี่ห้อรัฐบาลมีแผนจัดการอย่างไร จะนำเข้าเอง หรือเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนในการนำเข้าร่วมด้วย ต้องรอดูความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง หากรัฐบาลจะเป็นผู้นำเข้าเองเพียงผู้เดียวก็อยากให้เร่งนำเข้ามาฉีดในประเทศโดยเร็ว เพิ่มจำนวนการฉีด เพราะตอนนี้เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลปริมาณวัคซีนยังไม่มากเท่าที่ควรจากเป้าหมาย 63 ล้านโดส

อ่านข่าว ด่วน! ผู้ประกัน ม.33 รีบยื่นทบทวนสิทธิรับ 4,000 บ. ภายในวันนี้

ความต้องการฉีดวัคซีนของภาคเอกชนในส่วนของส.อ.ท. ที่ผ่านมาได้ส่งจำนวนบริษัท และจำนวนแรงงาน ที่ประสงค์จะซื้อวัคซีนจากรัฐบาลมาฉีดเอง ต่อกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ซึ่งสมาชิกส.อ.ท.ต้องการกว่า 100 บริษัท แรงงานกว่า 5 หมื่นคน แต่ล่าสุดไม่มั่นใจว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะคงจัดหาให้หรือไม่ ต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง แต่ในมุมของภาคธุรกิจควรได้รับการฉีดวัคซีนให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ หรือหากช้าสุดไม่ควรเกินสิ้นปีนี้

Advertisement

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือแผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล ควรออกมาได้แล้ว เพื่อดูว่าจะฉีดประชาชนกลุ่มใดบ้าง กี่โดส อาชีพไหน หรือจะใช้วิธีลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฉีดวัคซีน เพื่อเกิดความรวดเร็ว ทั้งนี้มองว่าการเปิดแพลตฟอร์มเป็นแนวทางที่ดี รัฐจะได้รับความชัดเจนว่าตอนนี้กลุ่มไหน หรืออาชีพไหนอยากฉีดบ้าง อย่างกลุ่มผู้ที่อยู่ในกลุ่มบริการ พ่อค้าแม่ค้า เซลล์ต่างๆ เพราะกลุ่มนี้เจอคนจำนวนมาก และมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ กลุ่มนี้ควรฉีดก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น

“ปัจจุบันแผนการกระจายวัคซีนคือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ ตัดสินใจว่าจะฉีดกลุ่มใด บริหารจัดการอย่างไร แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจเอง ใครอยากฉีดแสดงตัว ใช้วิธีลงทะเบียน”นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ล่าสุดแม้การส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเล็กน้อย 2.59% แต่เอกชนไม่กังวล เพราะไม่ได้ติดลบเยอะ เนื่องจากขณะนั้นมีปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า แต่เดือนมีนาคมนี้ทุกอย่างส่อแววดีขึ้น ทั้งปัญหาคอนเทนเนอร์และค่าเงินบาทผ่อนคลาย ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของหลายประเทศดีขึ้นก็น่าจะสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น

Advertisement

“สำหรับเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี ปีนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือกกร. ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เดือนมีนาคมคาดการณ์ว่าจีดีพีจะขยายตัว 1.5-3.5% การส่งออก 3.0-5.0% และเงินเฟ้อ 0.8-1.0% แต่จะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เป็น 4% ตามเป้าหมายรัฐบาลหรือไม่ จะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งจะมีการประชุมต้นเดือนเมษายนนี้”นายสุพันธุ์กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆนี้ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุว่าในการประชุมกกร.เดือนเมษายนนี้ สมาคมธนาคารไทยอาจเสนอให้กกร. ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้โตขึ้นเป็น 2-4% จากเดิมมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตได้เพียง 1.5-3.5% เนื่องจากมีปัจจัยบวกมากขึ้น ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินจากหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจโลกดูฟื้นตัวดีมากขึ้น ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์เชิงบวกในด้านการส่งออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image