คอลัมน์เฉลียงไอเดีย : ปตท.เปิดมิชชั่น ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ศูนย์ลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม…ยูนิคอร์นตัวแรก

คอลัมน์เฉลียงไอเดีย : ปตท.เปิดมิชชั่น ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ศูนย์ลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม...ยูนิคอร์นตัวแรก

คอลัมน์เฉลียงไอเดีย : ปตท.เปิดมิชชั่น ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ศูนย์ลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม…ยูนิคอร์นตัวแรก

ภายหลังประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ จนเศรษฐกิจโซซัดโซเซ จากโครงสร้างประเทศที่พึ่งพาต่างชาติ ทั้งการส่งออก และการท่องเที่ยว รัฐบาลต้องงัดสารพัดเครื่องมือเข้าช่วย ล่าสุดมีสัญญาณชัดจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 เริ่มเข้าสู่ช่วงท้าย มุ่งสู่ความสงบ จากการแพทย์ไทยสุดเจ๋ง ที่ควบคุมได้ และการเริ่มวัคซีนในประเทศแล้ว

หลังจากนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและแข็งแรง จึงจำเป็นต้องรื้อโครงสร้างเพื่อยกเครื่องเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ ซึ่งโครงการ “วังจันทร์วัลเลย์” ที่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซุ่มเงียบทำมานานแล้ว คือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญนั้นด้วย!

คุณเบญญาภรณ์ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลโครงการวังจันทร์วัลเลย์ ได้อัพเดตความคืบหน้าโครงการบนพื้นที่ 3,454 ไร่ ใน ต.ป่ายุบ อ.วังจันทร์ จ.ระยองว่า วังจันทร์วัลเลย์เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้ ปตท. ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริหารพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นฐานที่ตั้งของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ตามแผนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับความสามารถในการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ทุกภาคส่วนของประเทศ รองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายประเทศไทย 4.0

Advertisement

โดย ปตท.ตั้งเป้าหมายพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ เป็นเมืองวิจัยนวัตกรรมในรูปแบบสมาร์ท เนเชอร์รอล อินโนเวชั่น แพลตฟอร์ม มีระบบนิเวศที่เป็นเลิศ มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เพียบพร้อม รองรับการทำงานและอยู่อาศัย ตอบสนองความต้องการเหมาะสม โดยมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่ง ประมาณ 60% ของโครงการ

หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ แบบเห็นภาพ วังจันทร์วัลเลย์จะคล้ายๆ ซิลิคอน วัลเลย์ ของสหรัฐอเมริกา ต้นกำเนิดของศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเทค และนวัตกรรมของโลก หรือจะคล้ายๆ เสิ่นเจิ้น วัลเลย์ ของจีน นั่นเอง!

คุณเบญญาภรณ์ฉายภาพวังจันทร์วัลเลย์ให้เห็นถึงรายละเอียดของโครงการแห่งนี้ว่า ภายในโครงการ ปตท. ได้แบ่งโซนการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 โซนหลัก ประกอบด้วย 1.Education Zone การพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้การวิจัย ปัจจุบันดำเนินการแล้ว คือ สถาบันวิทยสิริเมธี (วิสเทค) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (เควิส) สถาบันการศึกษาเพื่อบ่มเพาะบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

Advertisement

อีกส่วนที่ดำเนินการแล้วคือ ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สำหรับศึกษา วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการป่าไม้ ทั้งการเรียนรู้และศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ระบบบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่ป่าปลูกสำหรับงานวิจัยต่างๆ

นอกจากนี้ยังเดินหน้าศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เป็นศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตร ใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ ให้แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป

2.Innovation Zone มีการพัฒนาพื้นที่สำหรับการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โซนนี้เป็นที่ตั้งของอาคารกลุ่มนวัตกรรมอีอีซีไอของ สวทช. เกี่ยวข้องกับการพัฒนา 4 เมืองนวัตกรรม ได้แก่ BIOPOLIS, ARIPLIS, SPACE INNOPOLIS และ FOOD INNOPOLIS รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันวิจัยแสงซิน
โครตรอน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ วางเครือข่ายเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อยอดธุรกิจ ขณะนี้เสร็จสมบูรณ์แล้ว

รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรของ ปตท. ให้สามารถใช้งานระบบ 5G Playgroung เพื่อทดสอบนวัตกรรมที่จำเป็นต้องใช้โครงข่าย 5จี รวมถึงสามารถใช้งาน UAV Regulatory Sandbox หรือการอนุญาตให้สามารถบินโดรนเพื่อวิจัยนวัตกรรมในพื้นที่วังจันทร์
วัลเลย์เป็นกรณีพิเศษด้วย

3.Community Zone การพัฒนาพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยและสันทนาการ ประกอบด้วย ที่พักอาศัย สถานที่พบปะสังสรรค์ สถานที่ออกกำลังกาย พื้นที่สีเขียวยั่งยืน โรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติ เพื่อรองรับนวัตกรผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

นี่คือภาพทั้งหมดของวังจันทร์วัลเลย์ตามแผนงานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ 3,454 ไร่!

ซึ่งคุณเบญญาภรณ์ตอบเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การลงทุนมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฟสแรก ด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ความเป็นเมือง เดิมตั้งใจจะเปิดปลายปีที่ผ่านมา แต่เกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทำให้การดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ต้องล่าช้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เริ่มดีขึ้น ถือว่าอยู่ในจุดที่พร้อมแล้ว จึงคาดวังจันทร์วัลเลย์เฟสแรกที่เป็นในส่วนของ ปตท. จะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนนี้ และขณะนี้พร้อมเปิดพื้นที่ให้นักลงทุนเข้าชมสถานที่แล้ว

ในส่วนงานที่ สวทช.รับผิดชอบ รวมทั้งหน่วยงานอื่นคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้เช่นกัน ส่วนเฟสต่อๆ ไปที่ต้องพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม อพาร์ตเมนต์ โรงเรียนนานาชาติ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณปี 2566

คุณเบญญาภรณ์ กล่าวถึงแผนลงทุนของอีอีซีไอด้วยว่า กำหนดระยะเวลา 15 ปี เพื่อยกระดับประเทศไทยหลุดพ้นจากประเทศรายได้ต่ำ ไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) จะต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 4% ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนในระยะต่อไป ปตท.จึงอยู่ระหว่างเชิญชวนบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์นวัตกรรมในพื้นที่ คาดว่าปี 2564 นี้ จะมีต่างชาติเข้ามาลงทุนประมาณ 1-2 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกัน เป็นอินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ เหมือน สวทช. เป็นศูนย์พัฒนานวัตกรรมของเอกชนต่างชาติ จากเดิมตั้งในประเทศตนเอง ก็เข้ามาตั้งในไทยด้วย เป็นธุรกิจด้านอุปกรณ์ไฟฟ้า ยา ซึ่งยาจะสอดรับกับ ปตท.ที่กำลังเดินหน้าธุรกิจยา อาหารสุขภาพ

“วังจันทร์วัลเลย์จะเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตนวัตกรของประเทศ เป้าหมายสูงสุด คือ การที่ประเทศไทยจะไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยี เราต้องการจะเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของประเทศที่ดึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาในพื้นที่ ต่อจากนี้ความเชื่อมโยงของวังจันทร์วัลเลย์กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้นวัตกรรมไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก มีการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต”

คุณเบญญาภรณ์ทิ้งท้ายภารกิจ วังจันทร์วัลเลย์!! มิชชั่น พอสซิเบิ้ล แน่นอน

ปิยะวรรณ ผลเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image