ดีอีเอส เตรียมประสาน ‘กูเกิล-แอปเปิล’ ฟันแอพพ์กู้เงินเถื่อน

ดีอีเอส เตรียมประสาน ‘กูเกิล-แอปเปิล’ จัดการแอพพ์กู้เงินเถื่อน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มอบหมายให้นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องทุกข์จากกลุ่มผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกโจรกรรมข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นเงินกู้เถื่อน ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ กลุ่มแอนตี้หมวกกันน็อคออนไลน์ โดยได้รับคำร้องขอให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ทำการกู้เงินจากแอพพลิเคชั่นผิดกฎหมาย และนำมาสู่การถูกข่มขู่ คุกคาม ประจาน เนื่องจากมีการโจรกรรมข้อมูลสำคัญในโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ ได้ให้ความมั่นใจกับกลุ่มผู้เสียหายว่า จากข้อมูลที่ส่งมา กระทรวงฯจะเร่งตรวจสอบ และประสานงานกับตำรวจในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการสืบสวนของตำรวจก็จะมีขั้นตอนดำเนินงาน เช่น ทางเทคนิค จะมีการตรวจสอบว่าแอพพ์เงินกู้ผิดกฎหมายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

ขณะที่ในส่วนของตัวผู้กระทำผิด จะมีการตรวจสอบความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง อีกทั้ง มีการตรวจสอบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทุกด้านควบคู่กันไปด้วย โดยกระบวนการเหล่านี้ ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า จะรีบเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายในวงกว้าง

Advertisement

นายเนวินธุ์กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงฯในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาแอพพลิเคชั่นผิดกฎหมาย ปัจจุบันยังมุ่งเรื่องการตรวจสอบเป็นหลัก เนื่องจากแอพพ์ที่มีเปิดให้บริการอยู่ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงแอพพ์เงินกู้ผิดกฎหมาย ที่สร้างความเสียหายกับประชาชนล่าสุดนี้ มีการยื่นขอไปทางผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการมือถือ ได้แก่ แอปเปิล และกูเกิล จึงเป็นข้อจำกัดของกระทรวงฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี เพจอาสาจับตาออนไลน์ ที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ และรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า แอพพลิเคชั่นใดที่เข้าข่ายหลอกลวงหรือผิดกฎหมายในข้อต่างๆ สามารถแจ้งเข้ามาได้ทาง inbox โดยจะมีทีมงานของกระทรวงฯ และของเพจช่วยกันจับตา ตรวจสอบ และสอบสวนหาข้อมูลให้ได้

ส่วนการดำเนินการบล็อกโดเมน หรือปิดแอพพ์ผิดกฎหมาย/ไม่เหมาะสมอย่างที่เคยดำเนินการมาแล้วนั้น ถ้าจะถอดถอดแอพพ์เหล่านี้ออกจากระบบ ต้องผ่านขั้นตอนการประสานงานกับทางกูเกิล (มือถือระบบแอนดรอยด์) หรือแอปเปิล (มือถือระบบ iOS) แต่ในเรื่องออนไลน์ต้องเข้าใจว่า มีการปิดและเปิดใหม่ได้ตลอด ดังนั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมช่วยกันเป็นหูเป็นตา

“อยากให้ประชาชนมีความตระหนักและรู้เท่าทันว่าแอพพ์ให้บริการผิดกฎหมายประเภทนี้ เช่น แอพพ์เงินกู้ เมื่อดาวน์โหลดมาแล้วพบว่าอัตราดอกเบี้ยมีลักษณะผิดแปลก และผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรไปใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะสุดท้ายแล้วเกิดความเสียหายทั้งเรื่องเงิน ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการถูกแบล็คเมล์ ดังนั้น เราต้องระมัดระวังให้ดี

“ในส่วนของการถูกเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ในอนาคตเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2560 เต็มรูปแบบ ก็จะน่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง” นายเนวินธุ์กล่าว

สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกันในอนาคต ระหว่างดีอีเอส และเจ้าของแพลตฟอร์ม หรือผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการบนมือถือ อาจมีการดำเนินการในลักษณะการขอความร่วมมือ เพื่อกำหนดบรรทัดฐานสำหรับเนื้อหา ที่เจ้าของแอปนั้นๆ จะมาขอเปิดให้ดาวน์โหลด ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และระยะต่อไปอาจมีการหารือกันเพื่อขอให้กระทรวงฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดกรองในบางกรณีที่อาจเป็นแอปผิดกฎหมายด้วย ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่สำคัญ เพราะถ้าสามารถยับยั้งตั้งแต่ต้นตอได้ก่อนมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการมายับยั้งที่ปลายเหตุ ที่ต้องมีการตามแก้ปัญหา

นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ออนไลน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ได้รับความเสียหายกว่า 2,000 คน โดยแอปได้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญของผู้กู้ ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ 1.รายชื่อผู้ติดต่อ 2.ไฟล์ภาพและวิดีโอต่างๆ 3.ธนาคารออนไลน์ (Mobile Banking) 4.ตำแหน่ง (Location) 5.กล่องข้อความ (SMS) 6.บัญชีเฟซบุ๊ก 7.บัญชีไลน์ โดยที่ฝังมัลแวร์ไว้ในโทรศัพท์มือถือ เมื่อผู้กู้ทำการติดตั้งแอพพลิเคชั่น

ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว หากผู้กู้ไม่ชำระยอดเงินกู้หรือเงินขยายเวลาตามกำหนด ทางแอปจะมีการโทรหรือส่งข้อมูลผ่าน SMS ไลน์ รวมถึงเฟซบุ๊ก โดยการแฮกข้อมูลและเข้าไปเปลี่ยนรหัสผ่านของผู้กู้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำเฟซบุ๊กของผู้เสียหายไปกระทำการโดยมิชอบ เพื่อเป็นการทวงถามโดยใช้วาจาไม่สุภาพ หยาบคาย ข่มขู่ คุกคามต่อชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image