กักตัวบน “เรือยอชต์” ซ้อมใหญ่เปิดประเทศ

กักตัวบน “เรือยอชต์” ซ้อมใหญ่เปิดประเทศ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ทุกประเทศต้องสั่งห้ามหรือจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ กระทบทันทีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของไทย ที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 12% ของจีดีพี ปี 2562 มีมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท หายไปในพริบตา หนึ่งในธุรกิจภาคบริการด้านท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักไม่แพ้กลุ่มใด คือ การท่องเที่ยวบนเรือยอชต์ ซึ่งในปี 2562 สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยสูงถึง 6 พันล้านบาท

ย้อนไปช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย เริ่มคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563 จึงอนุญาตให้เรือยอชต์เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ โดยเปิดทางให้เรือขนาดใหญ่อย่าง ซุปเปอร์ยอชต์ เรือสำราญความยาว 30 เมตรขึ้นไป มีผู้โดยสารไม่เกิน 12 คน รวมถึงเรือครุยเซอร์ เรือสำราญขนาดเล็ก โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นหน่วยงานในการอำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติ ในการรับเรือยอชต์เข้ามาในราชอาณาจักร

ขณะที่ ศบค.ได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติของเรือและบุคคลที่มากับเรือยอชต์เช่นกัน ตั้งแต่ถูกตรวจหาเชื้อโควิด-19 ต้องมีประกันรักษาสุขภาพ 1 แสนเหรียญสหรัฐ ต้องกักตัวในเรือ 14 วัน เรือที่เข้ามาต้องเปิดระบบติดตามเรือ (AIS) กำหนดจุดจอดที่อ่าวปอ ห่างจากฝั่ง 6.2 กิโลเมตร มีหน่วยงานในสังกัด ศรชล.ภาค 3 ควบคุมดูแลให้เรืออยู่ในจุดที่กำหนด การส่งเสบียงและกำจัดของเสียบนเรือ เป็นหน้าที่ของบริษัทนายหน้าที่นำเรือเข้ามา คนที่อยู่บนเรือต้องผ่านการตรวจโควิด-19 จำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่วันแรกที่มาจอดในน่านน้ำไทย ห้ามผู้โดยสารออกจากเรือและห้ามบุคคลภายนอกขึ้นเรือโดยเด็ดขาด ในช่วงกักตัว 14 วัน

ประกอบกับการมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีเป็นพิเศษ (ฉบับที่. …) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่เดินทางมากับเรือสำราญและกีฬา (เรือยอชต์) เพื่อมาท่องเที่ยวในไทย สามารถขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภท Special Tourist Visa (STV) ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 การต่ออายุ STV ให้แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเรือยอชต์นี้ จึงเป็นการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

Advertisement

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พร้อมด้วยพันธมิตรอย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือเอไอเอส บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด (POMO) กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย เล็งเห็นปัญหาจุดนี้ ได้ร่วมมือจัดทำโครงการ Digital Yacht Quarantine หรือโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี NB-IoT (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) โดยสายรัดข้อมืออัจฉริยะจะส่งข้อมูลสุขภาพของนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยวแต่ละคนตลอด 14 วัน ของการกักตัวสู่คลาวด์
ก่อนแสดงผลเข้ามาที่แดชบอร์ด ณ ที่ทำการท่าเทียบเรืออ่าวปอซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต ทำให้การกักตัวบนเรือของนักท่องเที่ยวและการทำงานของทีมแพทย์ หรือการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงตอนนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเรือยอชต์อย่างหนัก เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากเรือยอชต์ต่างชาติ สร้างความสูญเสียต่อรายได้กว่า 50-60% ทุกภาคส่วนจึงหาทางให้ธุรกิจเรือยอชต์กลับมาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับนโยบายของ ททท. ในการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ควบคู่กับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ในปี 2564-2565

โดยระบุถึงคาดการณ์ปี 2564 ไว้ว่า คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ มีจำนวนนักท่องเที่ยว 300-500 คน แต่ละคนน่าจะพำนักเฉลี่ยในไทยประมาณ 35 วัน อัตราการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวัน ประมาณ 47,000 บาท ก็น่าจะเกิดรายได้ 500-1,000 ล้านบาท รวมถึงรายได้จากการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาเรืออีกไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท รวมมูลค่าที่ไทยได้รับกว่า 1,700 ล้านบาท

ด้านผู้ประกอบการ ตัญญุตา สิงห์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค ซุปเปอร์ยอชต์ จำกัด ตัวแทนสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย (TYBA) กล่าวว่า อยากให้ทางรัฐบาลลดวันกักตัวให้น้อยลงจาก 14 วัน เหลือ 7-10 วัน หลังการทดสอบผลตรวจเชื้อโควิดรอบที่ 2 แล้ว ถ้าผลไม่ติดเชื้อทั้งหมดบนเรือ อยากให้มีการล่องเรือได้ ให้ไปตามจุดที่กำหนด โดยมีระบบติดตามตัวบุคคลในระหว่างที่มีการกักตัวอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวจะได้ไม่รู้สึกอึดอัด หรือไม่รู้สึกว่าอยู่กับที่เป็นเวลานานเกินไป

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเชื่อมั่นว่าการลดวันกักตัวตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ จะจูงใจกลุ่มเจ้าของกิจการต่างๆ ที่เป็นมหาเศรษฐีระดับโลก อาจหันมาสนใจจองแพคเกจเข้ามาท่องเที่ยวไทยแบบนี้ได้
และฟื้นรายได้ของภาคธุรกิจและท้องถิ่นได้อีกครั้ง หลังจากเจอมรสุมโควิดมากว่าปีเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image