‘พิพัฒน์’ ดับฝันเอกชน หลังเสนอให้เพิ่ม ‘กทม.’ เป็นพื้นที่นำร่องรับต่างชาติด้วย เหตุวัคซีนไม่พอ

‘พิพัฒน์’ ดับฝันเอกชน หลังเสนอให้เพิ่ม ‘กทม.’ เป็นพื้นที่นำร่องรับต่างชาติด้วย เหตุวัคซีนไม่พอ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า จากข้อเสนอของภาคเอกชน ที่ต้องการให้รัฐบาลเพิ่มจำนวนพื้นที่หลักในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากเดิมมี 6 พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา พัทยา เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า) โดยขอให้เพิ่มกรุงเทพมหานคร เข้ามาเป็นพื้นที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มเติม เนื่องจากประเมินพบว่า กรุงเทพฯ ถือเป็นเมืองที่ต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และสามารถกระจายนักท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่นๆ ได้สะดวกนั้น เบื้องต้นต้องยอมรับก่อนว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่นำเข้ามาในช่วงก่อนหน้านี้ ยังไม่เพียงพอในการฉีดให้กับประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะหากต้องให้กับคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีอาศัยอยู่ประมาณ 10 ล้านคน และต้องใช้วัคซีนต้านไวรัสกว่า 20 ล้านโดส จึงจะสามารถฉีดให้ครอบคลุมคนในพื้นที่กรุงเทพฯ จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ โดยระหว่างนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ขอหารือร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กระทรวงกลาโหม รวมถึงศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในการขอวัคซีนต้านไวรัสฉีดให้กับเมืองท่องเที่ยวก่อน ซึ่งจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ต่อไป

“เป็นไปไม่ได้จริงๆ ที่จะเปิดให้กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ 7 ในการนำน่องรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว แต่เชื่อมั่นว่า จากนี้อีก 4 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน-กันยายน) รัฐบาลจะนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสมาเพิ่มอีก 36 ล้านโดส กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะทำเรื่องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข และศบค. ในการขอกันวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 20 ล้านโดส ฉีดให้กับคนในกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายต่อไปในการดำเนินการ โดยเชื่อว่าหากได้วัคซีนมาเพิ่มตามจำนวนที่ขอไปนั้น ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2564 จะสามารถฉีดวัคซีนต้านไวรัสให้กับคนในกรุงเทพฯ ได้กว่า 60% แล้ว ทำให้เมื่อเข้าไตรมาส 4/2564 หรือเดือนตุลาคม ซึ่งกำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแบบไม่ต้องกักตัว จะสามารถเพิ่มพื้นที่รองรับในส่วนของกรุงเทพฯ เข้าไปเป็น 7 จังหวัดนำร่อง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของต่างชาติในปีนี้ ฟื้นกลับมาเท่าปี 2562 ประมาณ 80%” นายพิพัฒน์ กล่าว

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มเติมนั้น หลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป การนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาภายใต้โมเดลแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งจะนำร่องที่ภูเก็ตนั้น กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้หารือเบื้องต้นร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) และสมาคมการบิน ในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่บินตรงไปเที่ยวที่ภูเก็ต สามารถเดินทางไปเที่ยวต่อยังเกาะพงัน เกาะสมุย และเกาะเต่าได้ เพราะมีความปลอดภัยแน่นอนแล้ว หลังจากพำนักในภูเก็ตครบ 7 วัน ซึ่งจะเน้นเป็นต่างชาติที่ได้รับวัคซีนต้านไวรัสครบ 2 โดสแล้ว โดยภาครัฐจะสนับสนุนค่าเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะนั้นๆ เป็นการสนับสนุนในระยะสั้น ไม่ได้เป็นการสนับสนุนให้ตลอด ซึ่งรูปแบบการสนับสนุนอาจเป็นการช่วยค่าเดินทางให้ฟรี หรืออาจไม่ฟรีก็ได้ แต่ยังต้องหารือร่วมกับสายการบินก่อน ว่าจะสามารถทำออกมาในรูปแบบใดได้บ้าง ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดในการจัดเส้นทางการเดินทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งอาจไม่ได้ต้องการพักในภูเก็ตครบ 7 วัน แต่อาจต้องการพักในภูเก็ต 3 วัน ส่วนวันอื่นๆ อยากเดินทางไปพักผ่อนในพื้นที่เกาะต่างๆ แทน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะหารือร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าจะสามารถจัดเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องได้รับการอนุมติจากสาธารณสุขและศบค. ก่อน โดยประเมินว่า ในการนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 จะมีต่างชาติเข้ามาจำนวน 1 แสนคน ช่วง 3 เดือน หลังจากเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 จะต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้ได้อีก 6.4 ล้านคน เพราะตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 6.5 ล้านคน เพื่อให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวรวมตลาดต่างชาติและไทยเที่ยวไทย อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีเป้าการเดินทางของคนไทยทั้งปีนี้ อยู่ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image