สคร.เผยความคืบหน้าฟื้นฟู 7 รสก.เล็งอุ้มไอแบงก์ แยกหนี้เสีย-เพิ่มทุนกว่า 1 หมื่นล.-ปรับค่าเช่าคู่สัญญา รฟท.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งว่า ทั้ง 5 แห่งคืบหน้าไปพอสมควรและสามารถแก้ไขปัญาได้สอดคล้องกับแผน คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ ทศท. และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งการบินไทยและ ธพว.นั้นทำได้ดีมาก แต่ยังไม่ให้ออกจากแผน จะขอติดตามอีกสักระยะ สำหรับอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังล่าช้ากว่าแผน

นายเอกนิติกล่าวว่า ในส่วนของไอแบงก์นั้นกำลังเร่งจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อเข้ามาดูแลหนี้เสีย คาดว่าจะสามารถเสนอไปยัง ครม.เพื่ออนุมัติเอเอ็มซีในช่วงเดือนกันยายนนี้ เบื้องต้นมีมูลหนี้ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะมีการเพิ่มทุน เพื่อทำให้สถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ดีขึ้น จากขณะนี้ติดลบประมาณ 20% ตรงนี้ส่งผลให้การหาพันธมิตรร่วทุนทำได้ง่ายขึ้น เพราะพันธมิตรที่เจรจาก่อนหน้านี้ระบุว่าสนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนหากบีไอเอสไม่ติดงบ คาดว่าจะต้องเพิ่มทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท วิธีการเพิ่มทุนมีหลายแนวทาง อาทิ ใช้เงินจากกองทุนแบงก์รัฐ การซื้อหนี้มาที่เอเอ็มซีสูงกว่าราคามูลค่าตามบัญชี หรือใส่เงินเข้าไปโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางที่เหมาะสม

นายเอกนิติกล่าวว่า สำหรับ รฟท. ขณะนี้ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานปรับปรุงสัญญาเช่าที่ดินของ รฟท. มีนายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการนี้จะเข้ามาดูสัญญาเช่าที่ รฟท.กับเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่อยู่ประมาณ 3.6 หมื่นไร่ เนื่องจากพบว่าบางสัญญานั้นราคาไม่เหมาะสม พบว่าบางแห่งมีราคาเช่าเพียง 1 บาทต่อไร่ และเป็นสัญญาทำมานานหลายสิบปี ดังนั้น หากมีการปรับค่าเช่าใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ รฟท.มีรายได้มากขึ้น

“ในส่วนของไอแบงก์และ รฟท.ต้องมีการเสนอแผนทั้งหมดเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งกรณีไอแบงก์นั้นคงต้องพยายามดูแลกันต่อไป บางคนถามว่ายุบทิ้งง่ายกว่าไหม สคร.พิจารณาแล้ว แม้จะยุบทิ้งต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหนี้เสีย แต่ถ้าสามารถฟื้นฟูได้ ในอนาคตอาจจะมาทำกำไร และเป็นเครื่องมือรัฐในการดูแลเศรษฐกิจ” นายเอกนิติกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image