นักวิชาการหวั่น ‘หนี้ครัวเรือนพุ่ง’ กดดันเศรษฐกิจ ลามเป็นปัญหาสังคม-การเมือง

นักวิชาการหวั่น ‘หนี้ครัวเรือนพุ่ง’ กดดันเศรษฐกิจ ลามเป็นปัญหาสังคม-การเมือง

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เปิดเผยว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในตอนนี้ที่เป็นช่วงของการฟื้นตัว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีและจริงจังมากพอ แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงปัญหาดังกล่าวอย่างต่อนื่อง โดยหนี้ครัวเรือนไม่ได้ส่งผลกระทบกับความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชน ที่จะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดปัญหาสังคม และเชื่อมโยงไปเป็นปัญหาทางการเมืองตามมา

นายสมชาย กล่าวว่า สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากผลกระทบการระบาดโควิด-19 ทำให้คนตกงานมากขึ้น ก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่มีรายได้ลดลง โดยหากพิจารณาจริงๆ แล้วพบว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงนั้น เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่สะท้อนได้จากคความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของไทย อยู่ในระดับที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ที่ 3% ต่อปี แต่ขณะที่ประเทศอื่น อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โตเฉลี่ย 5% และหากเทียบกับประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย) พบว่าไทยโตต่ำที่สุด เพราะประเทศเหล่านั้นโตเฉลี่ย 7% มีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่โต 6.7%

“เมื่อขีดความสามารถการแข่งขันระหว่างประเทศของไทยต่ำลง ก็ทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำ ส่งผลต่อรายได้ของประชาชนลดลง ทำให้แม้โควิด-19 จะจบลงได้ แต่หากเราไม่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากกว่านี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ ภาพรวมเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวว่า อีกปัญหาที่พบคือ คนไทยมีค่านิยมในการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ไม่ได้พยายามใช้เพื่อพัฒนาทักษะ สร้างการเรียนรู้ เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติม ทำให้รัฐบาลจะต้องหาทางเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขัน และการใช้จ่ายที่เกินตัวของคนบางกลุ่มด้วย

Advertisement

นายสมชาย กล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มการผูกขาดธุรกิจในตลาดสูงขึ้น ส่งผลต่อการสร้างรายได้ของประชาชน บวกกับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา เน้นไปยังการลดภาระค่าใช้จ่าย แต่ไม่มีการสอนทักษะให้สามารถสร้างรายได้หรือประกอบธุรกกิจ ในรูปแบบลืมตาอ้าปากได้ รัฐบาลจึงต้องพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพทักษะในทรัพยากรมนุษย์ให้ทันโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image