ส่องอนาคต 5Gไทย ภารกิจปีที่สองลดความเหลื่อมล้ำ

ส่องอนาคต 5Gไทย ภารกิจปีที่สองลดความเหลื่อมล้ำ นับตั้งแต่การประมูลคลื่น

ส่องอนาคต 5Gไทย ภารกิจปีที่สองลดความเหลื่อมล้ำ

นับตั้งแต่การประมูลคลื่นความถี่เพื่อใช้งานบนเทคโนโลยี 5G จนถึงวันนี้ก็ล่วงเลยไปกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งในการปล่อยประมูลคลื่นความถี่ของภาครัฐ คาดหวังให้เทคโนโลยี 5G นำไปสู่การพัฒนาความเป็นอยู่ ภาคสังคม และภาคธุรกิจต่างๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงความคืบหน้าที่เกิดขึ้น และยังไร้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่ !!

แต่ก็รับการยืนยันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าแม้ทั่วโลกเจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหมือนกัน แต่สำหรับ 5G ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนต่างร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อให้มีการใช้งาน 5G ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ใช่เพียงใช้งานบนสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่รวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เป็น 4.0

สำหรับความคืบหน้า 5G ในส่วนของภาคเอกชน เริ่มต้นที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ระบุว่าในปี 2563 มีลูกค้าที่ใช้งาน 5G กว่า 4 แสนราย ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นเทคโนโลยี 5G มีสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G กว่า 40 รุ่น ในราคาเริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาท และคาดว่าปี 2564 จะมีลูกค้า 1 ล้านราย โดยมีการลงทุนด้านเครือข่ายไปแล้วกว่า 30,000 ล้านบาท

Advertisement

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ในปี 2563 มีลูกค้าที่ใช้งาน 5G กว่า 1 แสนเลขหมาย ปัจจุบันมีอยู่ 2.5 แสนเลขหมาย คาดว่าสิ้นปี 2564 จะมีลูกค้า 1 ล้านเลขหมาย โดยจะมีการลงทุนด้านเครือข่ายต่อเนื่องภายใต้งบประมาณ 40,000-60,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 จากปี 2563 ใช้งบประมาณแล้ว 20,000 ล้านบาท

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ปี 2563 ยังไม่มีการเปิดใช้งาน 5G แต่ภายในไตรมาส 1/2564 จะได้ใช้ 5G บนคลื่น 700 MHz จำนวน 4,400 สถานีฐานครอบคลุมพื้นที่ใช้งานราว 15 จังหวัด ซึ่งจะทยอยขยายเพิ่มเติมในบริเวณที่มีอุปกรณ์รองรับการใช้งาน และความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่สูงขึ้น โดยปี 2564 จะมีการลงทุนด้านเครือข่าย 15,000 ล้านบาท

ฟากภาครัฐ ย้อนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 133/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ (บอร์ด 5G) เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเป็นเอกภาพ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันที่เหมาะสมและทัดเทียมกับนานาประเทศ และสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนให้กับประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในสาขาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ

Advertisement

การประชุมบอร์ด 5G ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ได้อนุมัติโครงการสำคัญ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดรับรู้ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี 5G เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม เต็มประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้แก่

ด้านคมนาคม สถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ณ สถานีกลางบางซื่อ ด้านการศึกษา โครงการนำร่อง Smart Campus ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ด้านการเกษตร โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล (Smart Agriculture) เพื่อการพัฒนาระบบส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนางและปลากะพงขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และ โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G สำหรับการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (Smart Irrigation) ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดอุดรธานี

ด้านอุตสาหกรรม โครงการนำร่องโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ โรงงานในเครือบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (PTTGC) อยู่บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และด้านเมืองอัจฉริยะ โครงการนำร่องบ้านฉาง 5G สมาร์ทซิตี้ (5G Smart City)

ดังนั้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) จัดประชุมและมีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย ประมาณ 500 ล้านบาท

ได้ลงไปดูทางปฏิบัติจริงของ “บ้านฉาง 5G สมาร์ทซิตี้” หนึ่งโครงการตัวอย่างที่มีความรุดหน้า โดยเทศบาลตำบลบ้านฉาง จ.ระยอง วางแผนการบริหารจัดการเมืองมาก่อนหน้าแล้ว ให้เดินหน้าไปพร้อมกับการตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ทำให้เทศบาลตำบลบ้านฉางมีความพร้อมจะยกระดับเป็นสมาร์ทซิตี้ได้

ซึ่ง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ที่เกิดจากการควบรวมบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)หรือ TOT กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด หรือ CAT ซึ่งเป็น 2 รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้วางท่อ เสา สายส่งสัญญาณ ระบบไฟเบอร์ออพติกสำหรับโครงข่าย 5G โดยเฉพาะเพื่อรองรับการให้บริการผ่านคลื่นสัญญาณย่านความถี่สูง 26 GHz ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ ล่าสุดจาก กสทช. ในพื้นที่อีอีซี ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของบริการโทรคมนาคมที่ภาคเอกชนสามารถใช้งานได้ร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อนระหว่างภาครัฐกับเอกชนใช้ทรัพย์สินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เป็นการผูกขาดทางธุรกิจ

จากการสนับสนุนของ NT และภาคเอกชนอื่นๆ ได้ติดตั้งระบบเสาอัจฉริยะ 5G (5G Smart pole) ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง ปัจจุบันมีแล้วจำนวน 5 ต้น ในอนาคตจะมีการติดตั้งเสาตามแผนจนครบ 146 ต้น ครอบคลุมทั้ง อ.บ้านฉาง ตัวเสาประกอบไปด้วย โซลาร์เซลล์ หรือกังหันลม เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้า โดยใช้พลังงานหมุนเวียน, อุปกรณ์รับสัญญาณ 5G จากเสาโครงข่ายหลัก,อุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ให้บริการฟรีไวไฟ, กล้องวงจรปิดอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์มุมสูง-มุมต่ำ สามารถตรวจจับใบหน้า ป้ายทะเบียนรถได้ เป็นประโยชน์ในการติดตามเหตุอาชญากรรมได้, ระบบการตรวจจับระดับสารพิษในอากาศและค่าฝุ่น PM2.5 ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน เพื่อเฝ้าระวังและสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที, ป้ายประชาสัมพันธ์ LED และลำโพงเพื่อสื่อสารกับผู้คน และปุ่มขอความช่วยเหลือ (SOS) พร้อมกล้องวิดีโอคอลได้ ซึ่งข้อมูลที่รับมาจากเสาอัจฉริยะจะมีการส่งมายังศูนย์บัญชาการที่เทศบาล ซึ่งจะมีตัวจอประมวล (Dashboard) ผลรายงานข้อมูลอยู่ตลอดเวลา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถรับรู้เหตุได้ตลอดเวลา อีกทั้งมีการส่งข้อมูลบางอย่าง เช่น วิดีโอวงจรปิด ให้กับสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อติดตามเฝ้าดูเหตุการณ์ต่างๆ ได้

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
ลงนามบันทึกความร่วมมือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT สำหรับโลกยุค 5G เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยี 5G ยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยมีกรอบความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างฐานความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และแพลตฟอร์ม สำหรับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) จากการจัดตั้ง Huawei ASEAN Academy แห่งแรกของประเทศไทยในพื้นที่อีอีซี มีศูนย์ปฏิบัติการภายในมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อเป็นสถาบันฝึกอบรมหลักเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัลของไทย 2.สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการการพัฒนา ICT นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ให้บริการไปยังภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ 5G ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 3.การฝึกอบรม เสริมศักยภาพด้าน ICT และ 5G ตามหลักการพัฒนาบุคลากรตรงความต้องการ (Demand Driven) สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เข้าสู่การฝึกปฏิบัติ สร้างงานรายได้ดี 4.สร้างการรับรองมาตรฐาน อำนวยความสะดวกแก่อุตสาหกรรมเป้าหมาย

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยืนยันถึงอนาคต 5G ในไทย ว่า มีการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ ให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก 5G การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการสนับสนุนให้ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในอินเตอร์เน็ต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image