สทนช.ผนึก กทม.-ชป.-กรมอุทกศาสตร์ เร่งแผนป้องกันน้ำท่วมกทม.ก่อนเข้าฤดูฝน

สทนช.ผนึก กทม.-ชป.-กรมอุทกศาสตร์ เร่งแผนป้องกันน้ำท่วมกทม.ก่อนเข้าฤดูฝน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร (กทม.)​ ก่อนเข้าสู่ฤดูฝนปี 2564 และเดินทางต่อไปยังท่าเรือวาสุกรี สโมสรราชนาวี เพื่อลงเรือติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน​ (ชป.)​ กรมอุทกศาสตร์​ และกทม. ซึ่งถือว่าเป็นการบูรณาการหลายหน่วยงานด้านน้ำ เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาว

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนที่จะถึงนี้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กทม. ซึ่งมีระบบป้องกันน้ำท่วมของตนเองและระบบคูคลองที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับพื้นที่จังหวัดปริมณฑลเพื่อการระบายน้ำ และการจัดหาพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำฝนและเก็บกักน้ำไว้ใช้ โดยประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน และจังหวัดปริมณฑล ในการควบคุมปริมาณน้ำในพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมาณน้ำนอกพื้นที่ตอนบนกรุงเทพฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งสองพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงท่วมซ้ำซากในเขต กทม.ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ สทนช. ได้กำชับหน่วยงานต่างๆ เร่งกำจัดขยะและวัชพืชที่กีดขวางทางระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ขุดลอกลำคลองและแม่น้ำเส้นต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ การบริหารจัดการน้ำเสียต้องเร่งทำแผนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ปรับปรุงซ่อมแซมประตูระบายน้ำ ระบบสำรองไฟฟ้าการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ และระบบสูบน้ำ เร่งทำแผนบรรเทาน้ำเค็มของประตูระบายน้ำทั้ง 13 แห่งให้เป็นระบบมากขึ้น ระบบคาดการณ์ฝน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า และระบบคาดการณ์น้ำท่วมที่จะใช้เป็นปีแรก

Advertisement

ขณะที่ การแก้ปัญหาน้ำเค็มเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปฏิบัติการผลักดันลิ่มน้ำเค็มไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาที่สถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี ขณะที่กรุงเทพฯ ใช้สถานีสูบน้ำของอุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสูบน้ำช่วยปฏิบัติการดังกล่าวด้วย

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า หากช่วงมีค่าความเค็มเกินมาตรฐาน จะใช้น้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียของกทม. ที่ผ่านการบำบัดแล้ว รวมกับน้ำพื้นที่มาใช้เจือจางความเค็มในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ คาดว่า จะมีค่าความเค็มสูงขึ้นอีก 2 ช่วง คือ ระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน และระหว่างวันที่ 28 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคมนี้ จึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image