พบ “ไหมมันสำปะหลังรังเหลือง” ครั้งแรกในไทย

กรมหม่อนไหมค้นพบไหมกินใบมันสำปะหลังรังเหลืองพันธุ์ใหม่ “ไหมมันสำปะหลังสระแก้ว: CASA SILK” ” ครั้งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดสระแก้ว เผยรังมีสีเหลือง ขนาดใหญ่ เลี้ยงง่าย พร้อมพัฒนาเพื่อถ่ายทอดให้เกษตรกรเลี้ยงสร้างรายได้ภายในปลายปีนี้

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม ประชุมร่วมกับ นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว โดยมี นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม ตลอดจนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหมและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสระแก้ว เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังสรุปและหารือแนวทางการส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงไหมมันสำปะหลังรังเหลือง ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในไทยที่จังหวัดสระแก้ว

นายปราโมทย์ เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมได้มอบหมายให้หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมสระแก้ว ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหัตถกรรม ไหมอุตสาหกรรม ไหมอีรี่ ไหมดาหลาและแมลงทับ ล่าสุดได้พบไหมพันธุ์ใหม่ เรียกว่า “ไหมมันสำปะหลังสระแก้ว (CASA SILK)” เป็นไหมกินใบมันสำปะหลัง แต่มีลักษณะที่แตกต่างจากไหมกินใบสำปะหลังทั่วไปที่มีสีขาวขุ่น นั่นคือไหมมันสระแก้วนี้ รังมีสีเหลืองค่อนข้างเข้ม มีขนาดใหญ่ ยาวเรียว เส้นใยจะสานกันหลวมปลายข้างหนึ่งค่อนข้างแหลม ปลายอีกข้างหนึ่งมีรูเปิดเล็ก ๆ เพื่อให้ผีเสื้อออกจากรัง ผู้เลี้ยงสามารถดึงเส้นใยจากรังด้วยวิธีปั่น (Spun) แบบเดียวกับการปั่นฝ้าย ไม่ได้ใช้วิธีสาวแบบไหมกินใบหม่อน ดังนั้นจึงไม่ต้องต้มรังตอนที่ยังมีดักแด้ไหมอยู่ในรัง เพียงแค่ตัดเปลือกรัง หรือรอให้ผีเสื้อออกมาก่อน ก็สามารถนำรังไปต้มเพื่อละลายสารเหนียวที่เคลือบเส้นไหมออกแล้วนำไปปั่นได้เลย สามารถนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาลได้

และด้วยไหมมันสำปะหลังสระแก้วมีสีรังสีเหลืองเข้มที่แตกต่างจากรังไหมที่กินใบมันสำปะหลังปกติทั่วไปที่มีสีขาวขุ่น และมีขนาดใหญ่กว่าไหมที่เลี้ยงด้วยใบหม่อน แต่มีโปรตีนใกล้เคียงกัน จึงอาจมีความแตกต่างของสารสำคัญ อาทิ กรดอะมิโน ลูทีน เป็นต้น ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเวชสำอางได้ อีกทั้งในปัจจุบันกระแสความนิยมโปรตีนจากแมลงกำลังได้รับความนิยม จึงนำมาผลิตเป็นโปรตีนจากแมลง ตามแนวเกษตรสีเขียว (Green Agriculture) หรือเกษตรยั่งยืนที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพ

สำหรับการเลี้ยงไหมมันสำปะหลังสระแก้วนั้น เกษตรกรสามารถเลี้ยงด้วยใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร เลี้ยงง่าย มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพอากาศร้อน เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว สามารถเก็บใบมันสำปะหลังมาเลี้ยงไหมมันสระแก้วเป็นอาชีพเสริมได้ ซึ่งการเก็บใบมันสำปะหลังนั้น หากเก็บไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของต้น ยังคงสามารถเพิ่มผลผลิตของมันสำปะหลังได้ ไหมมันสระแก้วมีวงจรชีวิต 45-60 วัน เลี้ยงได้ 4 – 5 รุ่นต่อปี เกษตรกรสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายรังและดักแด้ ประมาณ 6,000 บาทต่อรุ่น นอกเหนือจากการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งปัจจุบันมีตลาดซึ่งมีความต้องการรับซื้อรังไหม จำนวน 30 ตัน/เดือน แต่เกษตรกรผลิตได้ 10 ตัน/ปี จึงควรส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพเสริมหรือเป็นอาชีพหลักมากขึ้น

Advertisement

“กรมหม่อนไหมจะจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ไหมป่าเพื่อการใช้ประโยชน์เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร กรมหม่อนไหมได้เร่งศึกษาวิจัย” นายปราโมทย์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image