คณะกรรมการใหม่ กขค. ชู 5 นโยบาย สร้างมาตรฐานทางการค้าเสรีเป็นธรรม ชี้ยอดร้องทุกข์เฉลี่ยปีละ 22 เรื่อง

คณะกรรมการใหม่ กขค. ชู 5 นโยบาย สร้างมาตรฐานทางการค้าเสรีเป็นธรรม ชี้ยอดร้องทุกข์เฉลี่ยปีละ 22 เรื่อง

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า การดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้ 5 ตุลาคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2564 รวม 3 ปี 3 เดือน มีสถิติรับเรื่องร้องเรียนรวม 68 เรื่อง หรือเฉลี่ยปีละ 22 เรื่อง แบ่งออกเป็น การกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า (การดำเนินคดี) และข้อมูลการดำเนินคดีแยกตามมาตรา 50 จำนวน 10 เรื่อง มาตรา 54 จำนวน 4 เรื่อง มาตรา 57 จำนวน 54 เรื่อง และการกำกับการควบรวมธุรกิจ ทั้งในภายในประเทศและต่างประเทศที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยมีการแจ้งผลรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 วรรคหนึ่ง จำนวน 42 เรื่อง และขออนุญาตรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 วรรคสอง จำนวน 5 เรื่อง

นายสกนธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ มีการพัฒนาแนวทางการกำกับการแข่งขันทางการค้า โดยเป็นแนวปฏิบัติทางการค้า (Guideline) เพื่อให้สามารถกำกับดูแลพฤติกรรมทางการค้าได้อย่างครบถ้วน และสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อีกจำนวน 21 เรื่อง

นายสกนธ์กล่าวต่อว่า ปี 2564 เป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ในยุคดิจิทัล ซึ่งรูปแบบการประกอบธุรกิจและการแข่งขันทางการค้าของทุกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก เป็นความปกติใหม่ (New Normal) และมีผลให้โครงสร้างการแข่งขันในตลาดขาดความสมดุล ธุรกิจบางกลุ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น ธุรกิจ e-Commerce ขณะที่ธุรกิจบางกลุ่มอาจต้องล้มเลิกกิจการไป เช่น ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม ทำให้มีแนวโน้มเกิดการรวมธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขันทางการค้า และผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดใหม่ จึงกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่สำคัญ 5 ประเด็น

Advertisement

1.การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม การตกลงร่วมกัน (Cartel) การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และการรวมธุรกิจ (Merger and Acquisition) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจัดทำระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์โครงสร้างตลาดและพฤติกรรมทางการค้า รวมทั้งการพัฒนาระบบการติดตามพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้า การรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาพฤติกรรมทางการค้าที่เข้าข่ายการกระทำความผิดอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด ทั้งโทษอาญาและโทษปรับทางปกครอง

2.การพัฒนาการกำกับการแข่งขันในธุรกิจ e-Commerce เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและรูปแบบการประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศหรือต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งอาจเข้าข่ายผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าอย่างเข้มงวด และจัดทำแนวทางปฏิบัติ Guidelines) หรือข้อแนะนำ Recommendation) เพื่อยกระดับการกำกับการแข่งขันในธุรกิจ e-Commerce ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งขันหรือคู่ค้า และรักษาประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

3.การพัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับการดำเนินงานกำกับการแข่งขันของประเทศไทยให้มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับและกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการร่วมมือและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลด้านการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้ากับหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) องค์กรกำกับการแข่งขันของญี่ปุ่น (JFTC) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) รวมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของประเทศอื่น ๆ เพื่อให้การสนับสนุนในการจัดตั้งสถาบันการแข่งขันทางการค้าในประเทศไทย (Competition Academy)

Advertisement

4.การจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์ธุรกิจ Business Intelligence Unit (BIU) เพื่อวางระบบการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลในการกำกับดูแลกรแข่งขันทางการค้าและการดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานด้านนโยบายและกฏหมาย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และแนวทางการกำกับการแข่งขันทางการค้าและติดตามติดตามพฤติกรรมการแข่งขันในตลาด การพัฒนาการวิเคราะห์รายการสินค้าที่มีแนวโน้มจะเกิดการผูกขาด ทั้งในระดับประเทศและพื้นที่ (จังหวัด) การพัฒนาการศึกษาเชิงพฤติกรรมในการกำกับการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งการพัฒนาและจัดทำดัชนีชี้วัดการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทยเพื่อรายงานสถานการณ์การแข่งขันของประเทศเป็นประจำทุกปี

5.การนำเสนอนโยบายการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้มีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอนโยบายและการกำกับการแข่งขันทางการค้าต่อรัฐบาล และหน่วยงานการกำกับดูแลธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะ (Sector Regulator) เพื่อให้สามารถสร้างบรรยากาศและโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างมีส่วนร่วมจากทุกระดับ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงให้สามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

“การแข่งขันทางการค้าเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจรายใหม่ หรือปรับธุรกิจเดิมให้สามารถแข่งขันได้ อันจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อผู้ประกอบการรวมทั้งต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ การแข่งขันทางการค้ายังเป็นที่พึ่งพิงของผู้ประกอบการในทุกระดับของประเทศ การแข่งขันทางการค้าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างโอกาสต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม” นายสกนธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image