กรมชลประทานร่วมหาทางแก้การรุกตัวของน้ำเค็มในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายเฉลิมเกียรติ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จากการติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ขึ้นสูงในช่วงฤดูแล้งหลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ในการผลิตประปา และพื้นที่การเกษตรริมแม่น้ำเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงฤดูฝนปี 2563 ที่ผ่านมา พื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทยมีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้ไม่สามารถนำน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดมาไล่ความเค็มได้ตลอดเวลา

กรมชลประทานได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดมาตรการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย มาตรการหลัก ด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และป้องกันน้ำเค็มตลอดฤดูแล้ง กำหนดเกณฑ์ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระรามหก ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A (อ.บางไทร) เหนือสถานีสูบน้ำดิบสำแล ให้มีอัตราการไหลเฉลี่ย 80-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะสามารถควบคุมความเค็มไม่ให้ไหลย้อนไปถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแลได้ การบริหารจัดการน้ำจะพิจารณาให้สัมพันธ์กับการขึ้นลงของน้ำทะเล ตลอดจนควบคุมการปิด-เปิดประตูระบายน้ำตามคลองต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้น้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่การเกษตร การควบคุมความเค็ม เฝ้าระวังและควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแลของการประปานครหลวง ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรการเสริม การตรวจวัดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวังและควบคุมเป็นรายชั่วโมงทุกวันจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง รวมทั้งการสำรองน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไว้ใช้กรณีฉุกเฉินเกิดปัญหาความเค็มเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ จะระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงมาเจือจางได้อย่างรวดเร็ว สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา ส่วนมาตรการควบคุมความเค็มในแม่น้ำแม่กลอง ประกอบด้วย มาตรการหลัก ด้านการบริหารจัดการน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์และและป้องกันน้ำเค็มตลอดฤดูแล้ง การระบายน้ำผ่านเขื่อนแม่กลองในอัตราเฉลี่ย ไม่ต่ำกว่า 70-90 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที การก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวปิดปากคลองต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง การควบคุมและเฝ้าระวังค่าความเค็มที่ปากคลองดำเนินสะดวก ให้มีค่าความเค็มไม่เกิน 2.00 กรัมต่อลิตร พร้อมด้วยมาตรการเสริม ตรวจวัดค่าความเค็มที่จุดเฝ้าระวังและควบคุมเป็นรายชั่วโมง ทุกวันจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้งเช่นกัน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนซึ่งมีลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ส่งผลให้น้ำทะเลรุกเข้าสู่แม่น้ำได้ไกล กรมชลประทาน ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการประตูระบายน้ำท่าจีน เมื่อปี 2541 โดยได้ทำประชาคมกับประชาชนในพื้นที่แล้ว แต่ประชาชนในพื้นที่ยังคงมีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่อยู่ด้านท้ายประตูระบายน้ำฯ จึงต้องชะลอการดำเนินออกไปก่อน ปัจจุบันได้นำโครงการดังกล่าวกลับมาทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการอีกครั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ตามนโยบายของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สำหรับโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำ 6 ช่อง ปิดกั้นลำน้ำเดิม หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้กว่า 19 ล้าน ลบ.ม. และช่วยป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยเก็บกักน้ำจืดไว้ในลำน้ำได้ และลดการใช้น้ำจืดจากเขื่อนหลักในการผลักดันน้ำเค็มในอนาคตได้

Advertisement

ในการนี้ที่ประชุมได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ซึ่งจะประเมินจากสถานการณ์น้ำฤดูแล้งปี 2563/64 เพื่อบริหารจัดการน้ำในการรักษาระดับค่าความเค็มในแม่น้ำให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ระยะกลาง (ปี 2565-2570) กำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาในด้านการเกษตร ด้านการวางแผน ด้านการอุปโภคบริโภค ด้านแหล่งน้ำต้นทุน และด้านการศึกษาความเป็นไปได้ส่วนแนวทางการพัฒนาอื่นๆ ในระยะยาว (ปี2571 เป็นต้นไป) มีแผนดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนบริเวณพื้นที่ต้นน้ำในลุ่มน้ำ การพัฒนาระบบผันน้ำ และการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปา โดยจะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากโครงการต่างๆให้มากที่สุด เพื่อให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงต่อไป

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image