คิดเห็นแชร์ : ‘สศอ.’ตั้งธง BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หมุนเวียนยกระดับอุตสาหกรรมไทย

ก่อนหน้านี้หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า BCG Model กันมาบ้างแล้ว BCG Model หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย การมุ่งเน้น เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เพิ่มมูลค่าเน้นพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเมื่อไม่นานมานี้ อีกหนึ่งโมเดลสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ

กล่าวง่ายๆ คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ขับเคลื่อนยกระดับอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะหน่วยงานจัดทำข้อมูลด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่อเสนอแนะนโยบาย แนวทางและมาตรการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมทั้งจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่จะนำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายภายใต้การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ ตาม BCG Model

สศอ.จึงได้จัดทำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งสร้างมูลค่าสูงสุดจากทรัพยากรธรรมชาติ ควบคู่กับการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ (Zero Waste) เน้นการปรับโครงสร้างการผลิตสู่รูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การจัดการของเสีย จนถึงการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร ปรับกระบวนการผลิตและการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยนำของเสีย/วัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจสู่โมเดลธุรกิจหมุนเวียนและการสร้าง Circular Startup

Advertisement

ที่ผ่านมา สศอ.มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ โดยให้การรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่การพัฒนาในระดับพื้นที่กลุ่มจังหวัดนำร่องภาคเหนือตอนบน

รวมทั้งกำหนดรูปแบบความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานและโมเดลต้นแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพ ที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ

โดยรัฐบาลได้เน้นย้ำมาตลอดว่าแผน BCG Model จะนำพาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งโมเดลนี้จะเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้กับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศด้วย ซึ่งจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด และที่สำคัญจะต้องสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยให้สมบูรณ์บรรลุเป้าหมายสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืน

Advertisement

เป็นยังไงกันบ้างครับ มาถึงตรงนี้แล้วหลายท่านคงเห็นถึงความสำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่จะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มพื้นที่เศรษฐกิจสีเขียวให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เราก็ต้องช่วยขับเคลื่อนกันทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน หน่วยงานรัฐและเอกชน ที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มง่ายๆ จากการลดใช้และการบริโภคทรัพยากรทางธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สุดท้ายนี้ นอกจาก สศอ.ได้ผลักดันแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแล้ว ยังได้นำเสนอมาตรการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา (Cross-cutting Measures) ครอบคลุมทั้งในเรื่องกฎหมาย กฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ และการพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-system) ต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบมาตรฐานสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน การปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการนำขยะ/ของเสียกลับไปใช้เป็นทรัพยากรในการผลิต มาตรการทางการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพและอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เกิดความมั่นคงและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

โดยมาตรการเหล่านี้จะขับเคลื่อน BCG Model ในระดับประเทศโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติต่อไปครับ

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image