สทนช.กับภารกิจบริหารจัดการน้ำ ยุติปัญหาซ้ำซาก…แล้งสลับท่วม?

สทนช.กับภารกิจบริหารจัดการน้ำ ยุติปัญหาซ้ำซาก...แล้งสลับท่วม?

สทนช.กับภารกิจบริหารจัดการน้ำ ยุติปัญหาซ้ำซาก…แล้งสลับท่วม?

เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่วนมาให้แก้ซ้ำซากในทุกๆ ปี สำหรับปัญหาน้ำท่วมสลับภัยแล้งที่ดูเหมือนประเทศไทยจะเป็นเพียงประเทศเดียวที่ประสบ และยังหาทางออกไม่เจอ แม้ว่าในทุกปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะค้นหาวิธีเพื่อรับมือ แต่ดูเหมือนว่าบ่อยครั้ง“เอาไม่อยู่” สำหรับปีนี้ ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรจึงตั้งตารอเป็นพิเศษว่าการบริหารจัดการน้ำจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ

⦁แผนจัดการน้ำแล้งโค้งสุดท้าย
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เปิดเผยภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2563/64 ที่ใกล้จะสิ้นสุดในปลายเดือนเมษายนนี้ว่า ยังคงเป็นไปตามแผน มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคจนสิ้นฤดูแล้ง และมีน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน สำหรับแนวโน้มสถานการณ์น้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 38,451 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 51% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,521 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 13,770 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% ของแผน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,444 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 38% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 2,748 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,052 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 81% ของแผน

“สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง เหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือนก็จะสิ้นสุดแล้ว ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีนี้ยังมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปีก่อน แม้บางพื้นที่มีการเพาะปลูก (นอกแผน) เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 2.79 ล้านไร่ ทางกรมชลประทานได้กำชับไว้มีการทำการเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่งแล้ว และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน โดยจะมีการปรับแผนการเพาะปลูกในทุ่งบางระกำประมาณ 265,000 ไร่ เริ่มเพาะปลูกแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อสามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนสิงหาคมนี้” เลขาฯ สทนช.กล่าว

Advertisement

⦁ห่วงแล้งมากกว่าน้ำท่วม
แม้ในปีนี้มีโอกาสที่ฝนจะมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่หากถามว่ากังวลปัญหาใดมากกว่ากัน สทนช.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน ยังกังวลเรื่องภัยแล้งมากกว่าน้ำท่วม เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าปีนี้ฝนจะทิ้งช่วง ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม แต่หากไม่มีพายุเข้ามาเลยเชื่อว่ายังบริหารจัดการได้ แต่โอกาสตีตื้นมาคือฝนต้องเท่าทุน โดยปีที่แล้วพายุเข้ามาช่วงเดือนพฤษภาคม ตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคกลาง และภาคตะวันออก ปรากฏว่าเหนือตอนบน อีสานตอนบน ปีนี้ใกล้เคียงกัน เบื้องต้นปีนี้คาดว่าจะมีพายุเข้ามา 1 ลูก โดยรวมน้ำปีนี้มากกว่าปีกลาย หรือปี 2561/62 แต่เป็นเพียงการคาดการณ์เบื้องต้นเท่านั้น หากกรณีที่น้ำมีน้อยจะส่งผลต่อการเพาะปลูกทันที ดังนั้น ต้องกักเก็บน้ำทุกเขื่อนให้ได้มากที่สุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้เริ่มมีสัญญาณแล้วว่าฝนกำลังมาช่วยชะลอการระบายน้ำด้านล่างให้พอคลายกังวลได้บ้าง นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กบ่อบาดาลให้มากที่สุด ทั้งในบริเวณภาคกลาง และภาคตะวันตกส่วนภาคใต้สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง ขณะที่ภาคกลางยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากสิ้นเดือนเมษายนนี้ ฝนทิ้งช่วงจนส่งผลให้ปริมาณน้ำเหลือเพียง 1,500-1,600 ล้าน ลบ.ม. จะเป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ปริมาณน้ำถึง 2,000 ล้าน ลบ.ม. ก่อนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้เพียงพอไปถึงช่วงฝนทิ้งช่วง และเป็นการลดผลกระทบในอนาคต เนื่องจากเขื่อนใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางมีน้ำสะสมน้อยในรอบกว่า 3 ปี ซึ่งถ้าไม่เร่งเติมน้ำให้ตรงตามเป้าหมายในปี 2565 อาจจะประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำได้

⦁เฝ้าระวัง18เขื่อนน้ำน้อย
นายสมเกียรติกล่าวว่า มีการสำรวจเขื่อนที่มีน้ำน้อย ปัจจุบันพบว่ามี 18 แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ยังน่าห่วง เป็นเขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ เขื่อนแม่จาง เขื่อนแม่มอก เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา และบึงบอระเพ็ด ภาคอีสาน ได้แก่ หนองหาร เขื่อนน้ำอูน เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนลำปาว เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ ภาคตะวันตก เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ ภาคตะวันออก เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนขุนด่านปราการชล และภาคกลาง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

Advertisement

นายสมเกียรติเผยอีกว่า หากฝนทิ้งช่วงเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะยิ่งลำบาก ต้องหาทางเก็บน้ำให้ได้ ต้องเร่งแข่งกับเวลา รีบขุดลอก เก็บน้ำให้มากที่สุด ยอมรับว่าแหล่งเก็บน้ำยังไม่เพียงพอ สายป่านไม่ยาวพอ ส่วนใหญ่ที่มีจะเป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กเก็บได้มากสุด 1 เดือน ซึ่งไม่พอและไม่ยั่งยืน ตอนนี้พยายามเพิ่มแหล่งเก็บน้ำให้สะสมได้ 2 เดือน ที่สำคัญ คือ สทนช.ได้เสนอของบกลางต่อรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติวงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากของบประมาณไปเพื่อนำไปพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง และพื้นที่ที่มีปัญหา ซึ่งงบประมาณที่รอนั้นรัฐบาลต้องนำไปใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน จึงทำให้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของแหล่งทุนในการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่อยู่

⦁ฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย5%
“ส่วนในปีนี้คาดว่าฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5% เนื่องจากปีที่แล้วฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5% ทำให้เป็นผลดีต่อภาคเหนือ และภาคกลาง แต่ต้องดูว่าฝนจะเข้ามาบริเวณไหน หากเข้ามาที่ภาคตะวันตกเหมือนเดิม หรือภาคอีสานตอนบนก็ยิ่งจะเป็นผลดียิ่งขึ้น ช่วยเติมน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ได้ แต่ถ้ามีน้ำมาในบริเวณพื้นที่อีสานเหนือตอนล่าง อันนี้ต้องระวัง อาจส่งผลให้คุมระดับน้ำไม่อยู่จนอาจเกิดน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ตาม ยังกลัวแล้งมากกว่าท่วม แม้ว่าปีนี้ภาคเหนือมีปริมาณน้ำดีกว่าปีที่แล้วราว 400-500 ล้าน ลบ.ม. แต่ภาคตะวันตกยังไม่ดีขึ้น คาดว่าน้อยกว่าเดิมประมาณ 2,000 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคอื่นๆ ยังถือว่าสามารถประคองสถานการณ์ไปได้” นายสมเกียรติกล่าว

จากความกังวลทั้งหมดเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้ยังไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง โดยนายสมเกียรติกล่าวว่า ยังสามารถแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่ได้ สามารถส่งน้ำ รวมถึงนำน้ำจากแหล่งน้ำมาช่วยเหลือโดยร่วมกับมหาดไทยได้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าสถานการณ์ภัยแล้งยังสามารถควบคุมได้ และหากเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำในปีนี้ ยังเทียบเคียงกับปี 2561 เนื่องจากในปี 2562/63 มีน้ำน้อยกว่าปี 2561 และที่น่าห่วงกว่านี้คือหากไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้จะส่งผลให้ฤดูแล้งปี 2564-65 น่าห่วงมากที่สุด ดังนั้น ในปีนี้ สทนช.จึงได้วางแผนจัดสรรน้ำและจัดแผนป้องกันภัยแล้งไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยสั่งการให้กรมชลประทานเตรียมช่วยเหลือ หากตรวจสอบพื้นที่ในเบื้องต้นแล้วพบว่าพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำทั้งในด้านการเกษตร และอุปโภคบริโภค จะมีการเข้าไปช่วยเหลือทันที เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย

ฝนเริ่มมาแล้ว หลังจากนี้แค่ติดตามแนวทางการป้องกันสถานการณ์ภัยแล้ง-ท่วมในปีนี้จะสามารถคุมได้อย่างที่ภาครัฐตั้งความหวัง หรือจะแป้ก…เดี๋ยวรู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image