ทีดีอาร์ไอหวั่นโควิดรุนแรง ลากยาว รัฐอาจต้องกู้เงินเพิ่ม

ทีดีอาร์ไอหวั่นโควิดรุนแรง ลากยาว รัฐอาจต้องกู้เงินเพิ่ม

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ ว่า จากตัวเลขการติดเชื้อพุ่งขึ้นใกล้ 1,000 คน ทำให้คนเกิดความวิตกกังวลได้ มีความไม่แน่นอนสามารถมองได้ทั้งมุมดีและร้าย ในกรณีที่ดีก็คือสามารถกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้ หมายความตามที่หมอหลายรายออกมาให้ข้อมูลคือ ถ้าคนกลัวและเลือกที่จะไม่ไปไหน เริ่มเว้นระยะห่างกันทางสังคมด้วยตนเอง ก็ทำให้ตัวเลขการติดเชื้อทรงตัวและลดลงได้ จากการฟังหมอท่านหนึ่งกล่าวไว้ คือ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ไม่ได้หมายถึงว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเลย แต่หมายความว่ามีผู้ติดเชื้อน้อยลง ทำให้คนในสังคมกลับมาใช้ชีวิต เดินทางได้ตามปกติแล้ว รวมทั้งแผนการเปิดประเทศดำเนินต่อไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ผลกระทบจะไม่มาก ภาครัฐทำการเยียวยา แค่ 1 เดือนจบ แต่ถ้าเป็นกรณีแย่ ไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ สัญญาณแรกที่บ่งบอกคือจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สัญญาณที่สองคือระบบสาธารณสุขของประเทศไทยไม่สามารถรองรับได้ ล่าสุดสถานการณ์โรงพยาบาลเอกชนและรัฐเริ่มมีขีดจำกัดเรื่องการตรวจและคัดกรองเชื้อ ขาดน้ำยาที่ใช้ในการทดสอบ ขาดเตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วยแล้ว

อ่านข่าว ททท.ยันเปิดประเทศตามกำหนดเดิม ประเมินยกเลิกเที่ยวสงกรานต์ 20%

“ถ้าอนาคตมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับได้แล้ว หลายๆคนอาจจะต้องทำการกักตัวที่บ้านด้วยตนเอง ซึ่งเสี่ยงมาก เพราะพฤติกรรมของอยู่ที่บ้านจะไม่ระวังตัว แพร่กระจายโรคไปยังคนในครอบครัวได้ และกระจายโรคได้รวดเร็วและรุนแรง กระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย”นายนณริฏ กล่าว

Advertisement

นายนณริฏ กล่าวว่า หากเกิดกรณีสอง สิ่งแรกที่รัฐบาลต้องทำคือ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ตามปกติถ้าเกิดการระบาดของโรคเศรษฐกิจจะชะลอตัว การจับจ่ายใช้สอยจะฝืดเคือง พอคนไม่มีหมุนเงิน ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นไปอีก หากผู้ป่วยเกิดภาระหนี้สิน ต้องดูแลครอบครัว ต้องออกมาไปทำมาหากิน ไม่สามารถทำกักตัว หรือเว้นระยะห่างทางสังคมได้ตามที่ควรเป็น ปัญหาจะพัลวันและเกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงต้องออกมาตรการเยียวยา ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการเยียวยาและบรรเทาทุกข์ทางเศรษฐกิจให้คนที่อยู่ระดับฐานรากก่อน เพื่อทำให้กลุ่มนี้สามารถประคองครอบครัวต่อไปได้

นายนณริฏ กล่าวว่า สำหรับเงินรัฐบาลจะมีเพียงพอหรือไม่นั้น ในปีที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการออก พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากการติดตามการเบิกจ่ายของภาครัฐนั้น ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เทียบตามปกติการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายใน 1 เดือนจะต้องใช้เงินประมาณ 1แสน – 1.2 แสนล้านบาท หมายความว่าเงินที่มีเหลืออยู่จะสามารถอัดฉีดเม็ดเงินเยียวยาได้ประมาณ 2 เดือน แต่ถ้าสถานการณ์ลากยาวมากกว่านั้น ภาครัฐอาจจำเป็นจะต้องหาเม็ดเงินเยียวยาเสริม หรืออาจทำให้รัฐบาลต้องพิจารณากู้เงินเพิ่ม

“คิดว่าภายใน 7 – 14 วัน จะทราบได้ว่าสถานการณ์จะไปทางดีหรือทางร้าย เพราะสถิติความต่างมันจะชัดเจนมาก กรณีควบคุมไม่ได้ อัตราการเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 20 – 30% ต่อวัน หมายความว่าอีกไม่กี่วัน ถ้าผู้ติเชื้อเกินวันละหลักพันจนถึงหลักหมื่น จะเข้าสู่กรณีที่แย่ทันที แต่ถ้าเกิดภายใน 7 วันนี้ตัวเลขผู้ติดชื้อเริ่มลดลง การระบาดลดลงจริงๆ และไม่มีกลุ่มคลัสเตอร์เกิดใหม่ ก็ถือว่าเข้าข่ายอยู่ในสถานการณ์ที่ดี”นายนณริฏกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image