โควิดรอบ3กดหัว‘หุ้นไทย’ กูรูฟันธงย่ำอยู่กับที่ 1,500 จุด

โควิดรอบ3กดหัว‘หุ้นไทย’ กูรูฟันธงย่ำอยู่กับที่ 1,500 จุด

โควิดรอบ3กดหัว‘หุ้นไทย’ กูรูฟันธงย่ำอยู่กับที่ 1,500 จุด

หลังจากเกิดการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบแรก นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จนถึงวันนี้ผลกระทบก็แตกกระจายเป็นวงกว้าง และลึกขึ้นเรื่อยๆ ไม่แตกต่างจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายไปในทุกประเทศทั่วโลก ทุกภาคส่วนเจอผลกระทบกันถ้วนหน้า ตั้งแต่อุตสาหกรรม บริการ ลงทุน ไม่เว้นแม้แต่ตลาดทุนสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัย นักลงทุนเจอภาวะปั่นป่วนกันอย่างทั่วถึง

⦁พิษโควิดเล่นงานหุ้นจนโคม่า
หุ้นถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์เสี่ยง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดสูงมาก โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนมีนาคม 2563 หรือครบ 1 ปีพอดี พบว่าดัชนีหุ้นปรับลดระดับลงอย่างรุนแรง ดัชนีหลุดระดับ 1,000 จุด จากที่เคยขึ้นไปเคลื่อนไหวบริเวณ 1,600 จุด เนื่องจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ กังวลว่าการระบาดของโควิด จะส่งผลกระทบกับภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงกับภาคธุรกิจ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ส่วนใหญ่จะประกอบธุรกิจที่อิงการเติบโตสอดคล้องไปกับเศรษฐกิจมหภาค ทำให้หากเศรษฐกิจชะลอตัว ผลประกอบการ และความสามารถในการทำกำไร ดูเหมือนจะแน่นิ่ง อาการโคม่า ตามไปด้วย

หลังจากใช้เวลาในการรับมือการระบาดไวรัสทั้งปี 2563 ก็เริ่มเห็นดัชนีหุ้นทยอยฟื้นตัวขึ้นมาในหลายอุตสาหกรรม จากเคลื่อนไหวอยู่แถวบริเวณ 1,200-1,300 จุด ปรับขึ้นมาแตะระดับ 1,400-1,500 จุดได้ ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาประเมินว่าปี 2564 หุ้นไทยจะกลับมาเคลื่อนไหวได้สูงกว่าระดับ 1,600 จุด

Advertisement

⦁โควิดรอบ2ทุบหุ้นซ้ำเติม
ภาพตัดเข้าปี 2564 เปิดเดือนแรกของปี มาพร้อมกับการระบาดโควิด-19 ระลอก 2 ที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนรัฐบาลสั่งมาตรการคุมเข้มอีกครั้ง แต่ระบาดรอบสองยังไม่ใช้วิธีประกาศล็อกดาวน์เหมือนรอบแรก จึงเห็นหุ้นไทยตอบรับกระแสวิตกกังวล ด้วยการปรับลดระดับลงรุนแรงเป็นสัปดาห์ ก่อนที่ปรับระดับขึ้นใหม่ เพราะมาตรการในการคุมโควิด ไม่ได้รุนแรงมากเท่ารอบแรกธุรกิจบางประเภทสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทจะต้องหยุดไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงมากเท่าที่ควร

หุ้นไทยเริ่มทยอยดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสเข้ามาฉีดให้กับประชาชนในประเทศ นำร่องที่กลุ่มเสี่ยงสูงก่อน อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ติดเชื้อโควิดอยู่แล้ว ประกอบกับในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนในประเทศ สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ แบบไม่ต้องกักตัว หรือแจ้งการมากับผู้ปกครองแต่ละท้องถิ่น การท่องเที่ยวที่หยุดชะงักไป ก็ดึงความคึกคักกลับมามากขึ้นสะท้อนออกมาให้เห็นผ่านดัชนีหุ้นไทย ที่ปรับระดับสูงขึ้นจนแตะ 1,600 จุด แม้จะไม่สามารถยืนเหนือบริเวณแนวต้านสำคัญ ที่มีผลต่อจิตวิทยานักลงทุนได้

⦁ระลอก3ตามมาติดๆ
เหมือนหนังซ้ำ เมื่อถึงช่วงจะมีการหยุดงานยาว เพื่อท่องเที่ยวและเดินทาง อย่างเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งก่อนหยุดยาวเป็นสัปดาห์เพียงไม่กี่วัน บรรยากาศที่ดูดีก็แปรปรวนขึ้นอีกครั้ง เมื่อเกิดคลัสเตอร์ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ขึ้น ซึ่งต้นต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัส เริ่มจากสถานบันเทิง พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และแพร่กระจายเร็วเป็นหลายเท่า จึงลุกลามไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เกิดปรากฏการณ์หลากหลายอาชีพรายใหม่ติดเชื้อ ทั้งแวดวงศิลปิน ดารา ถึงระดับรัฐมนตรี การระบาดมาพร้อมกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์อังกฤษ) ซึ่งยังไม่แน่ชัดถึงต้นตอ ว่าหลุดเข้ามาได้อย่างไร ความกังวลจึงทวีสูงมากขึ้น

Advertisement

ระดับความกังวลสะท้อนผ่านดัชนีหุ้น เมื่อวันที่ 12 เมษายน ก่อนปิดยาวสงกรานต์ พบว่า ตลาดหุ้นปิดที่ระดับ 1,541.12 จุด ลดลง 25.22 จุด หรือ 1.61% ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 78,223.59 ล้านบาท หากนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 12 เมษายน 2564 ดัชนีหุ้นลดลงรวมแล้วกว่า 54 จุด ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์

ข้อมูลล่าสุด วันที่ 15 เมษายน 2564 พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงถึง 1,543 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 37,453 ราย รักษาหาย 28,383 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 1,161 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 379 ราย ถือเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) อย่างต่อเนื่อง หลังจากทะลุ 1,300 คน ในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา

⦁หลังสงกรานต์คาดดัชนีดิ่ง1,500จุด
เปิดทำการหลังหยุดยาวสงกรานต์และผู้ติดเชื้อพุ่งเกินพันคนต่อวัน จะเป็นอย่างไร นั้น เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า “ระดับความเสี่ยงสำหรับการลงทุนยังมีอย่างต่อเนี่อง หลังจากสถานการณ์ระบาดโควิดทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวแบบพักฐาน จากความกังวลการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 ซึ่งต้องติดตามตัวเลขการติดเชื้อโควิดอย่างใกล้ชิด ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด เพราะส่งผลกดดันการปรับขึ้นของดัชนีแน่นอน แต่มองว่าดัชนีไม่ควรหลุด 1,530 จุด ซึ่งเป็นเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน เพราะหากหลุดต่ำลง จะก่อให้เกิดแรงเทขายหุ้นของนักลงทุน จนทำให้ดัชนีหลุดไปแตะที่ 1,500 จุดได้”

ทั้งยังวิเคราะห์ต่อว่า “ยังมีปัจจัยบวกจากต่างประเทศอยู่เนื่องจากพบว่า ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังคงใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ส่งผลทำให้ปริมาณเงินที่เป็นสภาพคล่องส่วนเกิน ไหลเข้าหาสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งปลายทางดูเหมือนยังเป็นตลาดหุ้น จึงให้น้ำหนักการลงทุนในส่วนที่เป็นหุ้นค่อนข้างมากอยู่ โดยจัดสรรเงินลงทุนในหุ้นไทย 35% และหุ้นต่างประเทศ 30% ตราสารหนี้ 15% เพราะคาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว จะขยับสูงขึ้นได้ ส่วนตราสารการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ให้น้ำหนักการลงทุน 10% ที่เหลืออีก 10% จัดสรรลงทุนในตลาดการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม

“ขณะที่ อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด มองว่า การระบาดโควิดรอบใหม่ ทวีความน่ากังวลมากขึ้น เพราะแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เร่งตัวขึ้นทำสถิติรายวันสูงสุดใหม่ และกระจายตัวไปในหลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศ ส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังสถานการณ์นี้ไปจนถึงช่วงหลังสงกรานต์

หากอ้างอิงจากการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ในช่วงที่มีการระบาดภายในประเทศระลอก 2 ดัชนีหุ้นไทยจะผันผวนสูงมากในช่วงวันแรกๆ ที่เริ่มมีข่าวการระบาด จากนั้นจะแกว่งขึ้นลงไปตามสถานการณ์ของจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่สรุปดัชนีจะยังสามารถปรับตัวขึ้นได้เล็กน้อยประมาณ 2% ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการระบาดระลอกนี้ หากควบคุมได้ดีและเร็วที่สุด อาจเห็นการฟื้นตัวของตลาดหุ้นได้เร็วกว่าครั้งก่อนๆ”

ดังนั้น ผลกระทบของโควิดกับตลาดทุนไทย จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง หัวใจสำคัญอยู่ที่การระบาดของไวรัส และจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่หากเพิ่มขึ้นรุนแรง ก็จะกดดันและซ้ำเติมผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากเข้าไปอีก แต่สวนทางกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า ที่ศักยภาพในการดำรงชีพมีน้อยกว่า คนระดับกลางขึ้นไป ซึ่งคนฐานรากในประเทศไทย ถือว่ามีสัดส่วนสูงสุด ในจำนวนประชากรรวม

และเมื่อชีวิตต้องดิ้นรนในการเอาตัวรอดเป็นรายวัน ไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการลงทุน เพื่อการออมในอนาคตเลย โอกาสมองไม่เห็นอยู่แล้ว ภาพที่เกิดขึ้น สวนทางกับการที่ตลาดหุ้นไทย ที่มีความน่าสนใจ และสามารถทำกำไรให้กับนักลงทุนได้สูงมาก เพราะผู้เล่นในตลาดหลักๆ ก็เป็นคนระดับกลางขึ้นไปทั้งนั้น

ความหวังฝากไว้ที่ฝีมือรัฐบาล จะคลายกังวลได้อย่างไร เพื่อนำพาประชาชนและประเทศชาติ ผ่านวิกฤตโควิด และผลกระทบซ้ำซ้อนให้ได้อีกครั้ง !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image