คิดเห็นแชร์ : วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ของไทยต่อการลงทุน

วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ของไทยต่อการลงทุน

วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ของไทยต่อการลงทุน

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ผมจะขอแชร์มุมมองต่อสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งกำลังได้รับกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบล่าสุด ทั้งสำหรับการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว

ตลาดหุ้นไทยที่พักฐานแรง ตั้งแต่ที่เริ่มพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสในประเทศจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ Valuation ของตลาดหุ้นไทยเองเริ่มที่จะแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกก็เร่งตัวขึ้น ตามความคาดหวังเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์ที่สอดคล้องกันนี้เอง (หุ้นแพง+มีข่าวร้ายเข้ามาพอดี) จึงเป็นเหตุให้นักลงทุน “ขายทำกำไรหุ้นไทย” … ทั้งนี้สำหรับประเด็นเรื่อง Valuation ของตลาดหุ้นไทย ผู้อ่านที่สนใจ อาจพิจารณาติดตามอ่านบทความการวิเคราะห์เชิงปริมาณ หรือ “Quantamental” ของฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่ผมเขียนและเผยแพร่ทุกต้นเดือนเพิ่มเติมได้ …

ก่อนที่ผมจะเขียนถึงกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมขออธิบายถึงสมมุติฐานหลักในเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสรอบล่าสุดก่อนนะครับ ทั้งนี้ สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบล่าสุดในประเทศไทย หากพิจารณาเพียงตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและการแพร่กระจายของพื้นที่เสี่ยงจะพบว่าเป็นสถานการณ์ที่ดูแล้วรุนแรงกว่า 2 รอบที่ผ่านมา (ต้นปี 2563 และปลายปี 2563) อย่างไรก็ดี ผมประเมินว่าการแพร่ระบาดของไวรัสรอบล่าสุดนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการแพร่ระบาดรอบแรกในช่วงต้นปี 2563 โดยสิ่งที่แตกต่างกันคือ “ประสบการณ์” โดยในการแพร่ระบาดรอบแรกนั้นภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมาก เพื่อรับมือกับ “โรคอุบัติใหม่” ที่ทางการแพทย์ยังไม่มีองค์ความรู้ที่เพียงพอ รวมทั้งภาคเอกชนเองก็ยังไม่ทันเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการประกอบธุรกิจในภาวะการล็อกดาวน์ ทำให้เกิดการชะงักของเศรษฐกิจทั้งระบบ อย่างไรก็ดี สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัสรอบล่าสุดนี้ ผมประเมินว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมี “ประสบการณ์” การรับมือที่เพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกัน การเร่งฉีดวัคซีนทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้มีจำนวนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไวรัสจากวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้น ผมประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะยัง “Underperform” ตลาดหุ้นโลก แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสหากพิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วดูเหมือนว่าสถานการณ์ในประเทศไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับต่างประเทศก็ตาม (พิจารณาแบบภาคตัดขวาง หรือ “Cross-sectional”) แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีตที่ผ่านมาของไทยเองจะดูรุนแรงกว่าทุกรอบที่ผ่านมา (พิจารณาแบบอนุกรมเวลา หรือ “Time-series”) แต่ในทางกลับกันทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส อาจมีหุ้นรายกลุ่ม-รายตัว ที่อาจได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์และมีโอกาสที่จะ “Outperform” ตลาดหุ้นไทยได้ ยกตัวอย่างเช่น “หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล” ที่ไม่สามารถเปิดรับคนไข้ผู้ป่วยต่างชาติได้ในขณะนี้ แต่จะมีโอกาสในเรื่องของการตรวจเชื้อไวรัส รักษาพยาบาล และการนำเข้าวัคซีนทางเลือก “หุ้นกลุ่มประกันภัย” ที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการทำประกันสุขภาพ ประกันโควิด-19 มากขึ้น หุ้นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการ “Work from Home” ทำให้มีการสั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เช่น “หุ้นกลุ่มบรรจุภัณฑ์และหุ้นกลุ่มขนส่ง” เป็นต้น นอกจากนี้ ผมประเมินว่าผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยเฉพาะจากรัฐบาลสหรัฐ และความคาดหวังเรื่องการผ่อนคลายการเดินทางทั่วโลกภายหลังการเร่งฉีดวัคซีน จะทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมัน ปิโตรเคมี สินค้าเกษตร เป็นต้น จะมีการปรับตัวขึ้นสอดรับกับทั้ง 2 ปัจจัยหนุน จึงทำให้หุ้นที่เชื่อมโยงกับวัฏจักรเศรษฐกิจโลกดังกล่าว มีโอกาสที่จะ “Outperform” เช่นกัน

สำหรับการลงทุนระยะยาว ผมยังคงประเมินหุ้นที่อยู่ในธีม “Re-opening” เช่น “หุ้นกลุ่มโรงแรม” “หุ้นกลุ่มค้าปลีก” “หุ้นกลุ่มขนส่ง (สายการบิน)” เป็นต้น ที่พักฐานลงมาพร้อมกับการแพร่ระบาดของไวรัส รวมทั้งความเสี่ยงเรื่องการยกระดับมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของภาครัฐ ซึ่งผลการดำเนินงานหุ้นในกลุ่มเหล่านี้คาดว่าจะยังอ่อนแอ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงแรม และหุ้นกลุ่มขนส่ง (สายการบิน) ที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จะยังมีโอกาส “nderperform” ตลาดในระยะสั้น แต่ผมประเมินว่าการพักฐานในขณะนี้เป็นโอกาสในการเข้าซื้อลงทุนสำหรับการลงทุนระยะยาว (กรอบระยะเวลาลงทุนประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี)

นอกจากนี้ สำหรับกรณีการลงทุนระยะยาว ผมประเมินว่าหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากคาดว่าหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย อุปสงค์-อุปทาน บ้านและที่อยู่อาศัยในประเทศจะเริ่มเข้าสู่ระดับสมดุล โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทโครงการคอนโดมิเนียม ที่คาดหวังว่าอุปสงค์จากต่างชาติจะเริ่มกลับมาเติมเต็มในส่วนนี้ หลังจากที่อุปสงค์จากต่างชาติหายไปในช่วงวิกฤตโควิด-19

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image