‘อนุสรณ์’ แนะรัฐตั้งกองทุนหนุนวัคซีน 5 หมื่นล้าน ส่งเสริมอุตสาหกรรมยา

‘อนุสรณ์’ แนะรัฐตั้งกองทุนหนุนวัคซีน 5 หมื่นล้าน ส่งเสริมอุตสาหกรรมยา

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ ม.รังสิต เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า จากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่ได้ผลน้อยลง และอาจทำให้ต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปี สร้างต้นทุนมหาศาลต่อประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้ และต้องอาศัยนำเข้าวัคซีน ดังนั้น ไทยต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมยาและวัคซีนซึ่งควรจะลงทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 50,000 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนและขับเคลื่อนให้กลไกตลาด และภาคเอกชนพัฒนาการวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านนี้อย่างจริงจัง

“ในสถานการณ์นี้ รัฐจำเป็นต้องมีบทบาทส่งเสริม ขณะเดียวกันต้องกำกับไม่ให้เกิดการผูกขาดเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการได้เมื่อจำเป็น เนื่องจากต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูงมาก จึงปิดกั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายใหม่สัญชาติไทย บริษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่ควบคุมองค์ความรู้ สิทธิบัตรอย่างสิ้นเชิง ทำให้ไทยอยู่ในฐานะผู้ซื้อที่ไม่มีอำนาจต่อรอง เวชภัณฑ์ส่วนใหญ่ทางการแพทย์มักเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตร่วมกัน อาทิ วัคซีน ยารักษา กระบวนการรักษา อุปกรณ์ทางการแพทย์ จะมีความเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบูรณาการทางด้านการรักษาโรคและการจัดการทางด้านสาธารณสุข การแข่งขันในตลาดยาถูกควบคุมด้วยการคุ้มครองสิทธิบัตร การแทรกแซงด้านราคาโดยรัฐ การควบคุมพฤติกรรมในการใช้ยาและสั่งจ่ายยาเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นมาตรฐาน มีการกระจุกตัวของผู้ผลิตยาและผู้ผลิตอาจทำการควบรวมกิจการกันเพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด ลดต้นทุนของการวิจัยและการทำตลาดต่อไป” นายอนุสรณ์กล่าว

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ทั้งนี้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระลอก 3 เกินกว่า 3,000 ราย/วัน ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 3 เดือน คาดว่าอุปทานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์น่าจะไม่สามารถรองรับความต้องการในการรักษา ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขทั้งระบบ และอาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยสูงขึ้น แม้นผลกระทบของการแพร่ระบาดในไทยหรือทั่วโลกจะไม่ได้ทำลายระบบการผลิตและอุปทาน แต่ระบบการผลิตและการเดินทางขนส่ง การท่องเที่ยวเกิดการชะงักงันจากการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นหลัก ทำให้เกิดการสินค้าบางชนิดจากการหยุดทำงาน หยุดการผลิต เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด กรณีการขาดแคลนชิปเซมิคอนดักเตอร์ส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่างๆ มากมายรวมทั้งการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น

นายอนุสรณ์กล่าวว่า หากความต้องการแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งอุปสงค์ต่อบริการทางการแพทย์ได้พุ่งขึ้นอย่างกว้างกระโดดในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้านี้ และไม่สามารถผลิตแพทย์หรือผลิตการให้บริการได้ทัน การใช้การแพทย์ดิจิทัล การแพทย์ทางไกล การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ผ่านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และระบบสมองกลอัจฉริยะ รวมทั้งการใช้การตรวจเชื้อแบบตู้อัตโนมัติ Self-service จะช่วยบรรเทาภาวะวิกฤตได้ ตอนนี้ได้เริ่มมีสัญญาณของการเริ่มมีการขาดแคลนบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขบ้างแล้ว กำหนดเวลาที่ผู้บริการอาจไม่สะดวกเพราะบุคลากรทางการแพทย์งานล้นมือ สภาวการณ์ขาดแคลนแพทย์และบริการสาธารณสุขนี้จะยิ่งเห็นชัดตามโรงพยาบาลจังหวัดตามแนวชายแดนตะวันตกของประเทศ ประเทศไทยต้องป้องกันการเกิดกลายพันธุ์ในประเทศด้วยการฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 500,000 คน และ ฉีดให้ครบ 70% เป็นอย่างน้อยก่อนเปิดประเทศ โดยควรตั้งเป้าทำให้ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ตั้งเป้า 500,000 คนต่อวัน โดยสามารถใช้พื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลในการจัดฉีด และสามารถให้อาสาสมัครทางด้านสาธารณสุขที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเร่งรัดฉีดได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image