สปาร์ก 4 เครื่องยนต์กู้ ศก. โจทย์หินกุนซือ‘บิ๊กตู่’ฝ่าโควิด 3

สปาร์ก 4 เครื่องยนต์กู้ ศก. โจทย์หินกุนซือ‘บิ๊กตู่’ฝ่าโควิด3

สปาร์ก 4 เครื่องยนต์กู้ ศก. โจทย์หินกุนซือ‘บิ๊กตู่’ฝ่าโควิด3

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระลอกแรกต้นปี 2563 และระลอก 2 ปลายเดือนธันวาคม 2563 คาบเกี่ยว 2 เดือนแรกของปี 2564 เริ่มเบาใจได้เพียงเดือนเดียว พอเข้าเดือนเมษายน ก็เกิดคลัสเตอร์ใหม่จุดฉนวนการระบาดโควิดระลอก 3 ทำให้เศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ กลับมาทรุดตัวลงอีกครั้ง น่าจะหนักกว่าการแพร่ระบาด 2 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้ความหวังที่จะเห็นผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี) ปี 2564 ที่รัฐบาลประกาศต้องขับเคลื่อนให้เติบโต 4% อาจเป็นความฝันที่ไกลเกินจริง

หลังจากปี 2563 เห็นจีดีพีติดลบกว่า 6.1% นับเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552 ที่จีดีพีติดลบ 0.7% และถดถอยมากสุดในรอบ 22 ปี หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540-2541 ที่จีดีพีติดลบ 7.6%

⦁4เครื่องยนต์เข็นศก.ไทย
เมื่อภาพความหวังเหมือนจะกลายเป็นความฝันมากเข้าไปทุกที รัฐบาลก็พยายามมองหาช่องทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อให้เติบโตได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ โดยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลักๆ มี 4 ตัว ได้แก่ 1.ภาคการท่องเที่ยว 2.ภาคการส่งออก 3.การบริโภค และ 4.การลงทุน ซึ่งต้องมาสำรวจว่า ทั้ง 4 เครื่องยนต์ มีเครื่องยนต์ใดที่ยังแข็งแรงเพียงพอในการเดินหน้าเศรษฐกิจต่อไปได้บ้าง

Advertisement

เริ่มที่สถานการณ์ของภาคการท่องเที่ยวไทย ขณะนี้ต้องยอมรับว่าประเมินแนวโน้มค่อนข้างลำบาก เพราะสถานการณ์ปรับเปลี่ยนค่อนข้างรวดเร็ว หลังจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานถึงบรรยากาศการเดินทางที่ฟื้นตัวมากขึ้น สอดคล้องกับเสียงของภาคเอกชนที่ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันอย่างชื่นใจว่า เริ่มเห็นจำนวนการเดินทางทยอยฟื้นตัวกลับมามากขึ้น สะท้อนได้จากยอดจองห้องพัก ที่ฟื้นตัวขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ใกล้เคียงกับกรุงเทพมหานคร หรือในระยะไม่เกิน 300 กิโลเมตร จากเดิมที่เห็นอัตราการเข้าพักอยู่ในเลขหลักเดียว ก็เริ่มปรับขึ้นมาเป็นเลข 2 หลัก และฟื้นได้อย่างต่อเนื่อง จึงหวังว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ช่วง 5 วันจะสร้างเม็ดเงินสะพัดได้มากกว่า 12,000 ล้านบาท เกิดการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านคน-ครั้ง ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย หากเทียบกับการเกิดขึ้นจากการเดินทางของคนในประเทศเพียงเท่านั้น

หลังจากเข้าสู่เดือนเมษายน ได้เพียง 3 วัน พบการระบาดโควิด-19 กลุ่มใหม่ขึ้น ซึ่งมีต้นตอมาจากสถานบังเทิงย่านทองหล่อ ก่อนจะกระจายเชื้อไปในหลายพื้นที่จนเกือบทั่วประเทศในขณะนี้ ทำให้ความหวังในการเห็นบรรยากาศการเดินทางช่วงสงกรานต์ที่คึกคักมากกว่า 3 เดือนแรกของปีมอดลง

⦁ภาคท่องเที่ยวรอลุ้นก.ค.
ยุทธศักดิ์ สุภัสสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สถานการณ์ในภาคการท่องเที่ยวยังต้องประเมินอย่างใกล้ชิด ว่าผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของไวรัสนั้น จะก่อให้เกิดความเสียหายมากเท่าใด โดยได้ประเมินว่า การชะลอการเดินทางของประชาชน จะทำให้รายได้ที่เกิดจากการเดินทางหายไปประมาณ 4,600 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการคำนวณจากช่วงการระบาดรอบแรก ปี 2563 ทำให้หากรัฐบาลสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ภายในเดือนเมษายนนี้ เท่ากับว่าเม็ดเงินที่หายไป จะหายไปเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่หากระยะเวลาในการควบคุมการระบาดยืดเยื้อออกไปมากกว่า 1 เดือน ก็เท่ากับรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวจะสูญหายไปมากขึ้น

Advertisement

“การควบคุมการระบาดจะใช้เวลาถึง 2 เดือน เหมือนที่มีการคาดการณ์กันไว้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการควบคุมของรัฐบาลและการร่วมมือของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งหากประเมินตามความจริงพบว่าเมื่อคุมการระบาดได้แล้ว ก็ต้องใช้เวลา 14-28 วัน ซึ่งเป็นระยะปลอดภัย ในการดึงบรรยากาศและความเชื่อมั่นกลับมา ในแบบที่คนจะกล้าออกจากบ้านหรือออกเดินทางมากขึ้น” ยุทธศักดิ์กล่าว

ส่วนไทม์ไลน์ในการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัว นำร่องวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ยังคงวางแผนและผลักดันให้เกิดได้ตามที่วางไทม์ไลน์ไว้ ซึ่งความหวังในการใช้ภาคการท่องเที่ยว เป็นเครื่องมือในการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศ และเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป ยังคงตั้งเป้าให้เป็นแบบนั้น ภายใต้เงื่อนไขหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.การเร่งฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด 2.การกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากโควิดคลายตัวแล้ว และ 3.การเปิดประเทศตามที่กำหนดไทม์ไลน์ไว้

⦁การบริโภคอาศัยแรงส่งรัฐ
เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว ธุรกิจได้รับผลกระทบในแง่การประกอบการ ก็ส่งผลโดยตรงกับการบริโภคในประเทศ อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การระบาดโควิดรอบนี้ จะกระทบการบริโภคบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคค้าปลีก และภาคท่องเที่ยว เพราะคนส่วนใหญ่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำงานที่บ้านมากขึ้น เดินทางหรือออกนอกบ้านน้อยลง ส่วนกลุ่มที่รับเงินโอนตามมาตรการภาครัฐ อาจกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น เพราะคนเลือกใช้บริการเพื่อลดค่าใช้จ่าย แม้ยังมีกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ลดการใช้จ่าย อาทิ ข้าราชการ มนุษย์เงินเดือน หรือกลุ่มแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเพื่อส่งออก

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 หากการระบาดคลี่คลายลงในเดือนพฤษภาคม และสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน ผลกระทบทางการบริโภคในประเทศไม่น่ารุนแรงเท่าการล็อกดาวน์ปีก่อนหน้า แต่น่าจะรุนแรงกว่ารอบ 2 ที่ผ่านมา เพราะปัจจัยสนับสนุนมีเพียงมาตรการรัฐเท่านั้น ที่ช่วยดึงให้ประชาชนใช้จ่ายมากขึ้น ผ่านโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน อาทิ คนละครึ่ง เราชนะ ด้านการบริโภคภาคเอกชน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองว่าขยายตัว 2.2% ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี อีกส่วนที่ต้องเร่งรัด คือ การเบิกจ่ายงบประมาณการลงทุนต้องให้ได้ไม่น้อยกว่า 80-90%

⦁ลงทุนเอกชนจอดนิ่ง
ด้านการลงทุนภาคเอกชน จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง เครื่องชี้เศรษฐกิจส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมกราคม 2563 โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ 18.6% ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวที่ 0.9% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาขยายตัว 2.9% ต่อปี

แต่พอเข้าสู่เดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ก็เริ่มเห็นการชะงักของการลงทุนอีกครั้ง เพราะเกิดความไม่แน่นอนขึ้น จากการระบาดโควิดรอบใหม่ ทำให้ภาคเอกชนมีความกังวลในการลงทุนเพิ่ม รวมถึงการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ก็ยังคงไม่ได้เห็นแนวโน้มที่สดใสมากนัก เพราะต้องยอมรับว่า ศักยภาพของประเทศไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามนั้นถือว่าเวียดนามเริ่มมาแรงกว่าไทยแล้ว

⦁ความหวังเหลือส่งออก
อีกเครื่องยนต์ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนมองตรงกันว่าคือความหวังแซงภาคท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้จีดีพียังบวกได้ เพราะไทยพึ่งพาภาคส่งออกในสัดส่วนกว่า 60% ของจีดีพี และประเมินกันว่าอย่างไรตัวเลขส่งออกทั้งปี 2564 ยังเป็นบวก และมีโอกาสสูงเกิน 4-5% ได้ หากในแต่ละเดือนไทยสามารถทำมูลค่าส่งออกได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

กระทรวงพาณิชย์ โดย ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ทิศทางการส่งออกของไทยดีขึ้น แม้ตัวเลขล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หดตัว 2.59% แต่กลับมามีมูลค่าแตะ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัว 2.87% อีกทั้งการนำเข้าขยายตัวดีถึง 22% คาดว่าเตรียมลงทุนเพื่อส่งออกในอนาคต สะท้อนการขยายตัวของภาคส่งออกและเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังโควิดคลี่คลายลงประกอบกับภาวะฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกดีขึ้น คาดโตถึง 5.6% หลายประเทศสามารถแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง หลายประเทศเริ่มฉลองเปิดประเทศแล้ว ภาคการผลิตเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงพอที่จะแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งตัวเลขภาคผลิตกลับมาสูงสุดในรอบสามปี

สำรวจเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มองภาพรวมยังเห็นหลายตัวที่พร้อมจะดับลงกลางทาง หากโควิดยังไม่ยอมจบสักที คงต้องวัดฝีมือของรัฐบาล ว่าจะเข็นประเทศไทยผ่านวิกฤตไปได้ แบบบอบช้ำน้อยที่สุดได้อย่างไร ซึ่งในสัปดาห์นี้หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือด่วนกับทีมเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะได้เห็นหลายทางออก!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image