‘คลัง’ เร่งศึกษาปรับโครงสร้าง ศก. หนุนเอกชนลงทุนให้ถึง 35% ของจีดีพี
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สศค.อยู่ระหว่างการศึกษาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างการลงทุนของประเทศไทยใหม่ ตามนโยบายที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบหมายนโยบายในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ในเบื้องต้นจะต้องส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้มีการลงทุนการเกษตรกรรมมากขึ้น
น.ส.กุลยากล่าวว่า จากวิฤกตโควิดครั้งนี้ ทำให้คนไทย กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเพิ่มขึ้น ดั้งนั้นต้องสนับสนุนให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำอาชีพเกษตรกรรม ที่สร้างรายได้ให้ตนเองและเลี้ยงครอบครัว ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกันภาครัฐ ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนการทำการตลาด ช่วยขายสินค้า ขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ
น.ส.กุลยากล่าวว่า นอกจากนี้ ต้องสนับสนุนให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ให้ครอบคลุม ให้ประชาชนได้เข้าถึงการใช้บริการทั้งบริการภาครัฐ และบริการจากภาคเอกชน เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจที่สร้างใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย
“เราจะเห็นจากช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิดเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นตัวเร่งให้ประชาชนหันมาใช้บริการดิจิทัล ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ยกตัวอย่างการใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ขณะนี้ผู้ใช้งานมากกว่า 30 ล้านคนแล้ว และเชื่อว่าหากมีการพัฒนารองรับการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าประชาชนจะใช้บริการมากยิ่งขึ้น เพราะสะดวก ประหยัดเวลา ไม่ต้องสัมผัส ไม่ต้องระมัดระวังเรื่องโควิด” น.ส.กุลยากล่าว
น.ส.กุลยากล่าวต่อว่า นับจากนี้ไปจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนลงทุนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จากช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงวิฤกตโควิด รัฐบาลลงทุน และอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคของประชาชนในประเทศ ขณะที่การลงทุนของเอกชน ยังมีสัดส่วนต่ำเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในอดีตช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เอกชนมีการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งมากกว่า 40% ของจีดีพี แต่ปัจจุบันเอกชนมีการลงทุนเพียง 25% ของจีดีพี จึงมีเป้าหมายผลักดันให้สัดส่วนการลงทุนของเอกชนอยู่ที่ 35% น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตด้วย
น.ส.กุลยากล่าวว่า การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อลดความความเหลื่อมล้ำ ลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ยกตัวอย่าง กรณีเกิดการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่สีแดง คือ กรุงเทพฯ และจังหวัดโดยรอบรวม 5 จังหวัด เศรษฐกิจในพื้นที่นั้นได้รับผลกระทบและหยุดชะงัก โดยเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนจีดีพีมากกว่า 70% ของประเทศ ส่งกระทบต่อจีดีพีอย่างมาก ดังนั้นหากมีการกระจายความเจริญ ไปยังภูมิภาค ก็จะสามารถทดแทนกันได้ จังหวัดหนึ่งปิด อีกจังหวัดก็เปิดให้บริการได้ ก็จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่ใช่หยุดชะงักไปเลย