อุตฯไทยฝ่า‘โควิด’ ลงทุนทะลุแสนล้าน

อุตฯไทยฝ่า‘โควิด’ ลงทุนทะลุแสนล้าน

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยเวลานี้ เหมือนคนป่วยที่อาการ 3 วันดี 4 วันไข้ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกล่าสุด

ทั้งที่ช่วงเดือนมีนาคม สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุเป้าหมายตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ว่าจะอยู่ที่ 4% จากเป้าหมายเดิม 2.8% ปัจจัยสนับสนุนจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในประเทศ การลงทุน การส่งออก และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ปัจจัยลบคือ โควิด-19 ที่ต้องติดตามว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด

กระทั่งเกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่ หลายฝ่ายเริ่มหวั่นใจกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยว่าสดใส หรือฟุบ รวมทั้งเป้าหมายการดึงนักลงทุนต่างชาติใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ และดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม ในด้านการลงทุนในประเทศ ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดภาพรวมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564) พบเรื่องน่ายินดี เพราะมีเม็ดเงินลงทุนถึง 106,146.56 ล้านบาท หลักๆ มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ

Advertisement

เรื่องนี้ สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. ระบุผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 มีมูลค่าการลงทุนรวม 106,146.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 27,388.47 ล้านบาท มูลค่าลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากถึง 287.56%!!

การเติบโตดังกล่าวชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการขยายการลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบางกลุ่ม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียม อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ที่ยังคงมีการลงทุนมากที่สุดในช่วง 2 ไตรมาสของปี 2564 เช่นกัน

ขณะที่มีการจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,655 คน แม้ลดลงกว่าปีก่อนหน้า 42% แต่มีเหตุผลมาจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโดยเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น ทำให้แรงงานต้องปรับสกิลตาม รองรับการที่ใช้ความชำนาญเพิ่ม ซึ่งค่าแรงเพิ่มขึ้นด้วย

Advertisement

ข้อมูลการขาย/ให้เช่าที่ดินในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 ยังพบว่าอยู่ที่ประมาณ 473.75 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ประกอบการซื้อ/เช่าประมาณ 1,398.84 ไร่ คิดเป็น 66.13% แบ่งเป็นการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 394.42 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 79.33 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ในภาพรวมจะชะลอการลงทุนอยู่บ้าง เนื่องมาจากการระงับเดินทางข้ามประเทศชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

แรงจูงใจนักลงทุน มาจากระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ความพร้อมของพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน จำนวน 62 แห่ง ในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ

และในเร็วๆ นี้ จะมีนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานกับ กนอ.แล้ว รอการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม 177,890 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่า 118,362 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว 90,657 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีก 27,706 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม 4.69 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 5,080 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 548,682 คน

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.94% อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.69% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.95% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.2% อุตสาหกรรมปุ๋ย สีและเคมีภัณฑ์ 5.99% โดยนักลงทุนจากจีนลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ถึง 37.5% อิตาลี 12.5% ญี่ปุ่น 12.5% สิงคโปร์ 12.5% และไต้หวัน 12.5%

ผู้ว่าการ กนอ.ระบุด้วยว่า ปี 2564 กนอ.มีแนวทางยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม ตั้งเป้าให้ทุกนิคมก้าวสู่ Smart Industrial Estate นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งร่วมมือกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมปรับปรุงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการขยายตัวของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ล่าสุด สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แจ้งข่าวดีด้านการลงทุนว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับ นายอิโตะ ฮิเดคาสึ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พานาโซนิคแห่งญี่ปุ่น ในประเทศไทย ได้รับการยืนยันว่ายังคงเดินหน้าลงทุนในไทย เน้นบทบาทการเป็นฐานการผลิตในธุรกิจมูลค่าสูงที่เติบโต โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งในรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันกำลังลงทุนเพิ่มเติม 2 โครงการ คือ 1.โครงการขยายโรงงานที่ จ.ขอนแก่น เพื่อเพิ่มสายการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ของโรงงาน พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 2.โครงการสร้างคลังสินค้าสำหรับรองรับการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ที่โรงงาน บริษัท พานาโซนิค ออโต้โมทีพ ซิสเต็มส์ เอเชีย แปซิฟิต จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ การลงทุนดังกล่าวจะสนับสนุน นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ถือเป็นข่าวดีด้านการลงทุน และเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image