เอไอเอส ดึง 5G ช่วยสาธารณสุขไทยฝ่าวิกฤต วอนทุกฝ่ายปิดต้นตอปัญหา ป้องระบาดรอบใหม่

เอไอเอส ดึง 5G ช่วยสาธารณสุขไทยฝ่าวิกฤต วอนทุกฝ่ายปิดต้นตอปัญหา ป้องระบาดรอบใหม่

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 นี้ ถือเป็นมิติที่ใหญ่มาก ด้วยความรุนแรงของโรค และสถิติ​จำนวนผู้​ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ขณะ​เดียวกัน​ พบว่า ประชาชนมีความกลัว ความกังวลน้อยกว่าการระบาดในระลอกแรก และระลอก 2 เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ลำพังหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งไม่สามารถที่จะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกองค์กร ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องทำงานแบบ 3 ประสาน ได้แก่ รัฐบาล เอกชน และประชาชน จะต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันอย่างแท้จริง

สำหรับ รัฐบาล จะต้องมีความพร้อมในการจัดหาวัคซีน ซึ่งเป็นคำตอบในการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ จะเปิดประเทศได้ จะฟื้นฟูประเทศได้ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน โดยให้คนไทยได้รับวัคซีนครบ 70% ขึ้นไป ตามเกณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอก 4 หรือระลอก 5 ต่อไป รวมถึง รัฐบาลจะต้องเตรียมมาตราการเยียวยาให้พร้อม และไม่อยากให้มาตรการเยียวยาเป็นแค่การแจกเงินในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว จำเป็นจะต้องมีการปรับโครงสร้างการฟื้นฟูกิจการตั้งแต่ระดับเล็กให้กลับมายืนได้ และมีมาตรการที่ยั่งยืนในการช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง

ส่วน ภาคเอกชน เชื่อว่ามีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่มีข้อเสนอแนะ คือ อยากให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยทุกคนมากกว่าการแข่งขันกันเอง อาทิ ปัจจุบัน​เอไอเอสสนับสนุนโรงพยาบาลสนามไปแล้ว 31 แห่ง ฉะนั้น จึงอยากให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) รายอื่น ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลสนามแห่งอื่นๆ ที่รอความช่วยเหลืออยู่จำนวนมาก เพื่อลดความซ้ำซ้อน รวมถึง อยากให้องค์กรใหญ่ๆ ยอมผ่อนคลายกฎ กติกาการแข่งขัน เพื่อให้ธุรกิจรายเล็กๆ ได้เติบโต ปลาใหญ่ต้องช่วยปลาเล็ก ไม่ใช่กินปลาเล็ก

Advertisement

ขณะที่ ประชาชน จะนั่งรอการช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว รู้จักประหยัด เพื่อให้เราได้อยู่รอดในระยะยาว อยากให้ทุกคนพัฒนาตัวเองในด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลงอย่างมาก

“คาดว่าปีนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะขยายตัวอยู่ที่ 3-4% สำหรับเอไอเอสตั้งเป้าอยู่ที่ 2-5% ซึ่งหากวิกฤต​นี้จบลงในไตรมาส 2/2564 อาจไม่กระทบกับเป้าที่ตั้งไว้มากนัก จึงต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อให้ช่วงครึ่งปีหลัง หรือไตรมาส 3/2564 เป็น​ต้นไป ประเทศไทยจะมีโอกาสกลับมาฟื้นฟูและเติบโตต่อไป อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 นี้ เกิดขึ้นจากสถานบันเทิง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จึงอยากให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง และถูกต้อง อะไรก็ตามเมื่อเราได้รับบทเรียน ได้เรียนรู้แล้วเกิดซ้ำ ส่วนตัวถือว่าเป็นความผิดพลาด ดังนั้น เราต้องช่วยกันปิดต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ให้ได้” นายสมชัย กล่าว

Advertisement

นายสมชัย กล่าวว่า สำหรับ เอไอเอสท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอก 3 เอไอเอส มีการเตรียมพร้อมในการสนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการ ผ่านการทำงานด้วยเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเซอร์วิส ใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลสนามติดตั้งเครือข่ายเอไอเอส 5G, 4G, ฟรีไวไฟ ในโรงพยาบาลสนามหลักกว่า 31 แห่ง มากกว่า 10,000 เตียง ทั่วประเทศ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น เชื่อมต่อระบบซีซีทีวีเพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย, การส่งต่อข้อมูลการแพทย์ ตลอดจนให้ผู้ป่วยที่กักตัวสามารถสื่อสาร ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวให้คลายความกังวล มีกำลังใจในการฟื้นฟูสุขภาพ

2.การแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน เทคโนโลยีที่ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วย ที่ช่วยลดการสัมผัส และลดความแออัด โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับแอพพลิเคชั่น Me-More ให้บริการในโรงพยาบาลสนามในเครือกรุงเทพมหานคร

3.5G เอไอ อัจฉริยะเดินหน้าร่วมมือกับราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่ายคือ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์ โดยการนำเอไอ ซีที แสกนปอด เข้ามาให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยจะช่วยวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณจากการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีที) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) กับแพลตฟอร์มที่ได้รับการเทรนจากข้อมูลของผู้ป่วยจริงในประเทศจีน ซึ่งเป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ รวดเร็ว และสามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96% นับว่ามีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจโควิด-19 ช่วยลดการใช้พีพีอี และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และช่วยให้บุคลากรหลายๆ ท่านสามารถกระจายตัวไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ที่สำคัญเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการได้รับโอกาสทางสาธารณสุข ผ่าน 5G ได้อย่างชัดเจน

4.อสม.เอไอเอส ยังคงเสริมขีดความสามารถของ อสม. อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอสม.มากกว่า 5 แสนรายที่ใช้งาน แอพพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ช่วยในการรายงาน การคัดกรอง เฝ้าระวัง รวมถึงติดตามผลในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงสำรวจสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการเดินทางของกลับบ้านของคนเมือง ยิ่งจะทำให้การทำงานของ อสม.ต้องยิ่งมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม

ทั้งนี้ กรณีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือกัลฟ์ ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรืออินทัช และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส แต่ขอผ่อนผันไม่ซื้อบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือไทยคม นั้น นายสมชัย กล่าวว่า เป็นการทำงานในระดับผู้ถือหุ้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเอไอเอส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image