แบงก์ชาติ ย้ำมาตรการใหม่มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อ

แบงก์ชาติ ย้ำมาตรการใหม่มีความยืดหยุ่นสูง ช่วยธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ทาง ธปท.ก็ได้ออกหลักเกณฑ์ออกมา 2 ฉบับ คือ ประกาศ ธปท. ที่ สกส1.1/2564 เรื่อง มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูฯ และประกาศ ธปท. ที่ สนส.4/2564 เรื่อง มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ฯ มีผลบังคับใช้ 20 เมษายนที่ผ่านมา โดยเปิดรับคำขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ทางภาครัฐพยายามสร้างความสบายใจให้กับสถาบันการเงิน ด้วยการสร้างกลไกเพื่อตอบโจทย์ความเสี่ยงด้านเครดิต กลไกลแรกคือการให้เก็บดอกเบี้ยสูงขึ้นจาก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนตัวเดิม มีการหารือกันว่าอัตราดอกเบี้ยไม่มีปัญหาเท่ากับการเข้าถึงของสินเชื่อ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยมีการดูความสามารถในการชำระหนี้ด้วย นอกจากนี้ยังคิดดอกเบี้ยใน 2 ปีแรก คิด 2% ต่อปี กลไกลตัวที่ 2 ลูกหนี้ทุกรายมีการค้ำประกันหนี้กับ บสย.ที่มีการค้ำประกันถึง 40% ส่วนลูกหนี้ธุรกิจรายเล็กสามารถค้ำประกันสูงสุดได้ถึง 90%

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ทางสถาบันการเงินได้มีการพูดคุยกับลูกหนี้ธุรกิจอยู่แล้ว ทาง ธปท.มีการให้สถาบันการเงินรับคำขอจากลูกค้าไว้ก่อน เพียงแต่ว่าในช่วงต้นรายละเอียดพึ่งได้ทยอยออกมา ทำให้ในวันที่ 26 เมษายนนี้ อาจจะไม่ได้มีคำขอเยอะมาก อาจจะเริ่มมีคำขอเยอะมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3

Advertisement

นางสาวสุวรรณีกล่าวอีกว่า มาตรการช่วยเหลือรอบนี้มีความยืดหยุ่นสูง ถ้าเกิดมีความจำเป็นในการปรับเงื่อนไขของมาตรการ ทั้งเรื่องระยะเวลา เรื่องวงเงินกู้ ก็สามารถปรับได้ในชั้นของประกาศ ธปท. ซึ่งทาง ธปท.ได้มีการมอนิเตอร์อยู่ตลอดว่ามาตรการที่ออกไปมีผลตอบรับออกมาอย่างไร ดูทั้งลูกหนี้ที่เข้ามา และข้อร้องเรียนจากลูกค้า เพื่อที่จะได้มาทบทวนในการปรับมาตรการต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image