‘หอการค้า’ ชี้โอกาสที่จีดีพี ปี64 โต 0% เป็นไปได้น้อย จี้รัฐเร่งคุมโควิดด่วน

‘หอการค้า’ ชี้โอกาสที่จีดีพี ปี64 โต 0% เป็นไปได้น้อย จี้รัฐเร่งคุมโควิดด่วน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีความกังวลโอกาสเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเป็น 0% ว่า ในการประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ในปี 2564 หลายฝ่ายคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.8-3% ส่วนศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่าทุกเม็ดเงิน 1 แสนล้านบาท ที่หายไปเศรษฐกิจจะติดลบ 0.6% หากในกรณีที่เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไป 5 แสนล้านบาท จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 0% และถ้าเม็ดเงินหายไป 6 แสนล้านบาท เศรษฐกิจจะโตติดลบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ บนสมมุติฐานเหล่านี้ ได้แก่ 1.เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 4 2.การเฝ้าระวังไม่รัดกุมพอส่งผลให้การแพร่ระบาดรอบที่ 3 ยืดเยื้อและบานปลายมากขึ้น ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อระยะเวลาในการควบคุมสถานการณ์จากเดิมที่คาดว่าจะคุมได้ภายใน 3 เดือน อาจยืดเยื้อไปถึง 5 เดือน และ 3.การที่จำนวนผู้ดิดเชื้อเพิ่มขึ้นจาก 1,400-1,500 ราย ทะลุเป็น 2,000 ราย จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่จะหายไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหาย 1.5-2 แสนล้านบาท/เดือน หากเป็นเช่นนั้นเศรษฐกิจไทยติดลบแน่นอน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แต่จากข้อมูลในปัจจุบันทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มองว่า ยังไม่มีโอกาสที่จีดีพี ปี 2564 จะอยู่ที่ 0% หรือติดลบ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 นี้ได้ภายใน 2-3 เดือน ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงยังไม่มีโอกาสติดลบ หรืออยู่ที่ 0% ได้ง่าย หรือโอกาสที่จะเกิดมีเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งในปี 2564 ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังประเมินว่า จีดีพีไทย จะเติบโตอยู่ในกรอบ 2.5-3% และมีโอกาสที่จะเติบโตที่ 2.8% แต่ในกรณีแย่ที่สุด ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 1.2-1.6% ในกรณีที่รัฐบาลไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะนี้

Advertisement

จากการประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น ทั้งเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อหลังกลับจากเทศกาลสงกรานต์ หรือในช่วง 4 วันที่ผ่านมาพบว่าอยู่ในระดับ 1,400-1,500 ราย ยังถือว่าทรงตัว จึงคาดว่ารัฐบาลจะคุมโควิด-19 ได้ภายใน 60 วัน หรือประมาณ 2 เดือน ซึ่งจากการสั่งปิดสถานบันเทิง และกำหนดปิดห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ให้เร็วขึ้น ส่งผลให้เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจหายไป 2-3 แสนล้านบาท จะส่งผลให้เศษฐกิจไทยลดลง 1.2-1.8% แต่ขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แล้ว โดยจะใช้วงเงินกู้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลือวงเงินกว่า 2.4 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการหรือมาตรการเดิมของรัฐที่ดำเนินการอยู่แล้ว อาทิ คนละครึ่ง ระยะที่ 3 เป็นต้น ซึ่งทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เสนอให้ใช้งบประมาณในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในโครงการนี้จะเป็นเงินของภาคประชาชนครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้มีเม็ดเงินอัดกลับเข้าไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลายตัวในเดือนพฤษภาคม 2564 มาตรการคนละครึ่งก็ควรเริ่มในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายไตรมาสที่ 2/2564 เพราะจากการประเมินในขณะนี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2564 จะลดลง 4-6% จากเดิมที่คาดว่าจะโตอยู่ที่ 9% ดังนั้น จึงต้องรีบอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน เพื่อเป็นแรงสนับสนุนในช่วงไตรมาสที่ 3-4/2564 ต่อไป นอกจากนี้ ต้องติดตามต่อไปว่ารัฐบาลจะออกมาตรการใดเพิ่มเติมอีก อาจจะเป็นมาตรการที่มีอยู่แล้ว อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ และ ม33 เรารักกัน เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image